“วิถีคิด” ทางวัฒนธรรมอาเซียน (มีไทยด้วย) ยังตกอยู่ในอาการ“ล้าหลัง คลั่งชาติ ทาสอาณานิคม” หากแก้ไขไม่ได้ก็ไปข้างหน้ากว่านี้ไม่ได้
“เร่งทำเรื่องการสร้างความร่วมมือด้านประเพณีไทยของกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีประเทศใดให้ความสำคัญกับเรื่องศิลปประเพณีไทย ประวัติศาสตร์ และภาษาถิ่น”
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แนะนำ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ช่วยกันสร้างอัตลักษณ์ภาพรวมให้กลุ่มประเทศอาเซียน (มติชน วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2554 หน้า 23)
รัฐมนตรีวัฒนธรรมให้นโยบายจัดตั้งกองอาเซียน สังกัดสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัด วธ. เพื่อดูแลงานวัฒนธรรมในเวทีอาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน วธ. มียุทธศาสตร์พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม ผ่านโครงการวัฒนธรรมสัญจรแหล่งมรดกโลก เช่น เชิญคณะทูตานุทูตกับสื่อมวลชนต่างประเทศเยี่ยมชมพิมาย (นครราชสีมา), พนมรุ้ง (บุรีรัมย์), ฯลฯ (มติชน วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 หน้า 22)
วัฒนธรรมสัญจรที่ยกมานี้เป็น“งานรูทีน” ตั้งแต่ยังไม่มี วธ.
แต่ไม่เคยประเมินผลว่าตั้งแต่ทำมามีประโยชน์มากน้อยขนาดไหน? หรือถ้าจะมีก็มีกันเอง, ทำกันเอง, เที่ยวกันเอง, เชียร์กันเอง, ยกยอปอปั้นกันเอง ฯลฯ เพียงแต่สร้างภาพได้ดูดี เพราะมี“ทูต”ประเทศต่างๆเป็นเครื่องประดับชั้นดี
ถ้าจะประเมินอย่างเป็นวิชาการโดย“มืออาชีพ” อาจได้ผลตรงข้ามกับที่ประเมินกันเอง
สาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ วธ. ยังไม่เคยแสดง“วิถีคิด” ภาพรวมทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งของประเทศตนเองและของกลุ่มประเทศอาเซียน ให้ประจักษ์แก่สังคมไทยและนานาชาติ
ที่แสดงต่อสาธารณะผ่านๆมา “วิถีคิด”ยังอยู่ในอาการ“ล้าหลัง คลั่งชาติ ทาสอาณานิคม” ดูจากคำอธิบายต่างๆเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ศิลปะ(แบบอาณานิคม)โดยไม่มีประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม(แบบสากลนิยม)
วธ. ต้องปรับปรุงแก้ไขตรงนี้ก่อน เพราะเป็นแก่นแท้ที่จะเกี่ยวข้องเรื่องอื่นๆ
ถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ เรื่องอื่นๆก็เหลวเป๋ว “กองอาเซียน”ที่จะตั้งขึ้นจะกลายเป็น“กองอาเสี้ยน”
นาฏศิลป์และดนตรีหลักๆคือ โขนละคร, ปี่พาทย์ฆ้องวง บางทีจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่จะหล่อหลอม“วิถีคิด”ให้กว้างขวาง เห็นภาพรวมทั้งอาเซียนในอุษาคเนย์
นี่เป็น“ของดีมีอยู่” (ใน วธ.) แต่ วธ. ไม่รู้จัก
เขตแดนของเรา—เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา เป็นงานชุดสำคัญมากๆของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (และคณะ) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเข้าใจภาพรวมวัฒนธรรมกลุ่มอาเซียน อุษาคเนย์ แม้จะมีคนบางพวกโจมตี “ใต้เข็มขัด” แต่เนื้องานชุดนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่สำคัญ ยกเว้นคนบางพวกที่ไม่สนใจพยานหลักฐานวิชาการ เพราะเอาแต่อารมณ์ตนเป็นที่ตั้ง
มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2554