สุภาษิต คำพังเพย สำนวน คำคมไทย


ความหมาย

สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงด้วยความคมคายสละสลวย ใช้พูดสื่อสารกันมีความหมายเป็นนัย กินความลึกซึ้ง แต่เป็นที่เข้าใจกันแพร่หลาย ถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้จะสลับที่หรือตัดทอนไม่ได้ เช่น หัวหกก้นขวิด หมูไปไก่มา ตีนเท่าฝาหอย อ้อยเข้าปากช้าง ขวานผ่าซาก คว้าน้ำเหลว ปั้นน้ำเป็นตัว ฯลฯ

คำพังเพย จะเป็นคำที่กล่าวกลางไว้ให้ตีความหมายเข้ากับเรื่อง มีความหมายทำนองติชม การเปรียบเทียบ และให้ข้อคิดในการปฏิบัติ เช่น คางคกขึ้นวอ กระต่ายตื่นตูม เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่กล่าวเป็นทำนองให้ข้อคิด คติ สั่งสอน เพื่อให้กระทำความดีและละเว้นความชั่ว เช่น ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ฝนทั่งให้เป็นเข็ม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว กงเกวียนกงกรรม รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

ข้อสังเกต โดยทั่วไปสำนวนจะมีความหมายครอบคลุมถึง สุภาษิต สุภาษิต คำพังเพย จึงยากที่จะแยกกันได้เด็ดขาด

สำนวนไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สำนวนไทย คือถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่[1]หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สำนวน คือถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือความที่เรียบเรียงขึ้นในเชิงอุปมาอุปมัยโดยมีนัยแฝงเร้นซ่อนอยู้อย่างลึกซึ้ง แยบคาย เพื่อให้ผู้รับได้ไปตีความ ทำความเข้าใจด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างไปความหมายเดิมหรืออาจคล้ายคลึงกับความหมายเดิมก็ได้ สันนิษฐานว่า สำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

อักษรไทย
  เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยเป็นพวกเจ้าบทเจ้ากลอน จะพูดจาหรือสั่งสอนใคร ก็มักจะอ้างเอาสำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพยที่พูดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณมาเปรียบเทียบเปรียบเปรยเสมอ ซึ่งคำเหล่านี้มักจะเป็นคำที่คล้องจองกัน ทำให้จดจำได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

            ที่สำคัญ สำนวนไทยยังมีเสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการดึงเอาสิ่งที่อยู่รอบตัวมาเปรียบเทียบ ดังนั้น เราอาจพูดได้ว่า สำนวนไทยมีความผูกพันกับชีวิตของเราอย่างใกล้ชิด และยังให้ข้อคิดสอนใจ ซึ่งสำนวนไทยนั้นมีอยู่มากมาย แต่เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนอาจยังไม่เข้าใจความหมายของ สำนวนไทย บางคำ หรือบางประโยค แม้จะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ก็ตาม วันนี้ กระปุกดอทคอม มีเกร็ดความรู้เรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

            สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงได้ตายตัว สลับที่หรือตัดตอนไม่ได้ มีความหมายเชิงเปรียบเทียบลึกซึ้งโดยครอบคลุมไปถึง ภาษิต สุภาษิต และคำพังเพย โดยสามารถแยกได้เป็น...

สำนวนที่มีเสียงสัมผัส

- เรียง 4 คำ ต้นร้ายปลายดี น้ำใสใจจริง
- เรียง 6 คำ ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
- เรียง 8 คำ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
- เรียง 10 คำ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
- เรียง 12 คำ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่

สำนวนที่ไม่มีเสียงสัมผัส

- เรียง 2 คำ ชิมลาง ขบเผาะ
- เรียง 3 คำ ถ่านไฟเก่า คมในฝัก
- เรียง 5 คำ น้ำขึ้นให้รีบตัก ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
- เรียง 6 คำ ถ่มน้ำลายแล้วกลืนกิน ยกภูเขาออกจากอก

ที่มาของสำนวน

1 สำนวนที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่
ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ทรัพย์ในดินสินในน้ำ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน

2 สำนวนเกี่ยวกับพืช
ขิงก็ราข่าก็แรง มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก ใบไม้ร่วงจะออกช่อ

3 สำนวนเกี่ยวกับสัตว์
โง่เง่าเต่าตุ่น ตีปลาหน้าไซ นกมีหูหนูมีปีก

4 สำนวนเกี่ยวกับนิทาน
กิ้งก่าได้ทอง กระต่ายตื่นตูม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ชาวนากับงูเห่า
สำหรับ สำนวน สุภาษิตไทย ที่เรามักจะได้ยินและเห็นกันอยู่บ่อย ๆ มีดังนี้

หมวด ก.
กงเกวียนกำเกวียน  - เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม
กบในกะลาครอบ - ผู้มีประสบการณ์และความรู้น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน – ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
กระเชอก้นรั่ว – สุรุ่ยสุร่าย, ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ, ไม่ประหยัด
กระดังงาลนไฟ – ผู้หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติ และเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน
กระดี่ได้น้ำ – อาการแสดงความดีอกดีใจ ตื่นเต้นจนตัวสั่น
กระต่ายขาเดียว – ยืนกรานไม่ยอมรับ
กระต่ายตื่นตูม –  คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
กระต่ายหมายจันทร์ – ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
กระโถนท้องพระโรง – ผู้ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใคร ๆ ก็พากันรุมใช้อยู่คนเดียว
กวนน้ำให้ขุ่น – ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ – ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเล ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
กาคาบพริก – ลักษณะที่คนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
กำแพงมีหูประตูมีช่อง, กำแพงมีหูประตูมีตา – การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไร ก็อาจมีคนล่วงรู้ได้
กินที่ลับไขที่แจ้ง – เปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ
กินน้ำใต้ศอก – จำต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
กินบนเรือนขี้บนหลังคา – เนรคุณ
กินปูนร้อนท้อง – ทำอาการมีพิรุธขึ้นเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง – เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา
เกลือจิ้มเกลือ – ไม่ยอมเสียเปรียบกัน, แก้เผ็ดให้สาสมกัน
เกลือเป็นหนอน – ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านที่คิดทรยศ,หนอนบ่อนไส้
เกี่ยวแฝกมุงป่า – ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัว
แกว่งเท้าหาเสี้ยน – รนหาเรื่องเดือดร้อน
ใกล้เกลือกินด่าง – มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
ไก่แก่แม่ปลาช่อน – หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
ไกลปืนเที่ยง – ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ – ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน

หมวด ข.
ขนทรายเข้าวัด – หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
ขนมผสมน้ำยา – พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง – ไม่กระทบกระเทือนถึงเดือดร้อน
ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า – บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
ขว้างงูไม่พ้นคอ – ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง
ขวานผ่าซาก – โผงผางไม่เกรงใจใคร
ขายผ้าเอาหน้ารอด – ยอมสละสิ่งสำคัญเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้
ขิงก็รา ข่าก็แรง – ต่างไม่ยอมลดละกัน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน – ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
เข็นครกขึ้นภูเขา – ทำงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก
เข้าตามตรอกออกตามประตู – ทำตามธรรมเนียมประเพณี
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม – ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาละเทศะ
เขียนด้วยมือลบด้วยตีน – ยกย่องแล้วกลับทำลายในภายหลัง
เขียนเสือให้วัวกลัว – ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
ไข่ในหิน – ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง

หมวด ค. , ฆ.
คดในข้อ งอในกระดูก – มีสันดานคดโกง
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ – คนรักมีน้อย คนชังมีมาก
คมในฝัก – มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้เห็น
คว้าน้ำเหลว – ไม่ได้ผลตามต้องการ
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด – มีความรู้มาก แต่ไม่รู้จักเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
คางคกขึ้นวอ – คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดี ลืมตัว
โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน – ชายสูงอายุที่ชอบผู้หญิงรุ่นสาว
ฆ่าความอย่าเสียดายพริก – ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่

หมวด ง. , จ.
งมเข็มในมหาสมุทร – ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก
งอมืองอตีน – เกียจคร้าน, ไม่สนใจขวนขวายการทำงาน
เงยหน้าอ้าปาก – มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน
จับแพะชนแกะ – ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทน เพื่อให้ลุล่วงไป
จับเสือมือเปล่า – แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน
จุดไต้ตำตอ – พูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเจ้าตัวเข้า โดยที่ผู้พูดไม่รู้ตัว

หมวด ช. , ซ.
ชนักติดหลัง – ความชั่วหรือความผิดที่ยังติดตัวอยู่
ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน – ชักนำศัตรูเข้าบ้าน
ชักใบให้เรือเสีย – พูดหรือทำขวาง ๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
ชักแม่น้ำทั้งห้า – พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
ชักหน้าไม่ถึงหลัง – มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม, ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม – ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล
ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไม่มิด – ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้ทั่วกันแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด
ชิงสุกก่อนห่าม – ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัน หรือยังไม่ถึงเวลา (มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน)
ชุบมือเปิบ – ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ, ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว – ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง, ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลาย่อมได้รับความเดือดร้อน

หมวด ฒ. , ด.
เฒ่าหัวงู – คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบาย หลอกเด็กผู้หญิงในทางกามารมณ์
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ – ให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคลหรือผู้หญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
เด็ดดอกไม้ร่วมต้น – เคยทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติก่อน จึงมาอยู่ร่วมกันในชาตินี้
เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด – ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
ได้ทีขี่แพะไล่ – ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ

หมวด ต.
ตกกระไดพลอยโจน – จำเป็นที่จะต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางเลี่ยง
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ – ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง – ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา – ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว
ตัดช่องน้อยแต่พอตัว – เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว
ตัดไฟต้นลม, ตัดไฟหัวลม – ตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป
ตัดหางปล่อยวัด – ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ – ลงทุนไปโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน
ตีตนก่อนไข้, ตีตนตายก่อนไข้ – กังวลทุกข์ร้อนหรือหวาดกลัวในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ตีนถีบปากกัด – มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้องโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
ตีวัวกระทบคราด – โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่ง
เตี้ยอุ้มค่อม – คนที่มีฐานะต่ำต้อยหรือยากจน แต่รับภาระเลี้ยงดูคนที่มีฐานะเช่นตนอีก
แตงร่มใบ – มีผิวเป็นนวลใยในวัยสาว

หมวด ถ. , ท.
ถ่มน้ำลายรดฟ้า – ประทุษร้ายต่อสิ่งที่สูงกว่าตน ตัวเองย่อมได้รับผลร้าย
ถอนรากถอนโคน – ทำลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น – ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วน แต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง
เถรส่องบาตร – คนที่ทำอะไรตามเขาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องราว
ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ – สิ่งที่มีอยู่หรือเกิดตามธรรมชาติ อันอาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
ทองไม่รู้ร้อน – เฉยเมย,ไม่กระตือรือร้น, ไม่สะดุ้งสะเทือน
ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป – ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย
ทำนาบนหลังคน – หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
ทำบุญเอาหน้า – ทำบุญเพื่ออวดผู้อื่น ไม่ใช่ทำด้วยใจบริสุทธิ์
เทือกเถาเหล่ากอ  - เชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมา

หมวด น.
นกสองหัว – คนที่ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกัยโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
นายว่าขี้ข้าพลอย – พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย
น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง – พูดมากแต่ได้เนื้อหาสาระน้อย
น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา – ทีใครทีมัน
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย – คำพูดที่ตรงไปตรงมา อาจไม่ถูกใจผู้ฟัง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัย คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งถูกใจผู้ฟัง แต่อาจเป็นโทษเป็นภัยได้

หมวด บ.
บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น – รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน
บ่างช่างยุ – คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
บ้าหอบฟาง – บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าจะเอาทั้งนั้น, อาการที่หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง
บุญทำกรรมแต่ง – บุญหรือบาปที่ทำไว้ในชาติก่อน เป็นเหตุทำให้รูปร่างหน้าตาหรือชีวิตของคนเราในชาตินี้ สวยงาม ดี ชั่ว เป็นต้น
เบี้ยน้อยหอยน้อย – มีเงินน้อย, มีไม่มาก
เบี้ยบ้ายรายทาง – เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ

หมวด ป.
ปล่อยลูกนกลูกกา – ปล่อยให้เป็นอิสระ, ไม่เอาผิด
ปล่อยเสือเข้าป่า – ปล่อยศัตรูไปอาจกลับมาทำร้ายภายหลังอีก
ปลาหมอตายเพราะปาก – คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก – คนที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ที่กดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอหรือผู้น้อย
ปลูกเรือนคร่อมตอ – กระทำสิ่งซึ่งล่วงล้ำ ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน – ทำตามความพอใจของผู้ที่จะได้รับผลโดยตรง
ปอกกล้วยเข้าปาก – ง่าย
ปากปราศรัยใจเชือดคอ – พูดดีแต่ใจคิดร้าย
ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม – ยังเป็นเด็ก
ปากว่าตาขยิบ – พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
ปากหวานก้นเปรี้ยว – พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ
ปิดทองหลังพระ – ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
ปิดประตูตีแมว – รังแกคนไม่มีทางสู้ และไม่มีทางหนีรอดไปได้
ปีกกล้าขาแข็ง – พึ่งตัวเองได้ (เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักใช้กล่าวเชิงตำหนิติเตียนผู้น้อย)
เป็ดขันประชันไก่ – ผู้ที่มีความรู้ความสามารถน้อย แต่อวดแสดงแข่งกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง
ไปไหนมาสามวาสองศอก – ถามอย่างหนึ่งตอบไปอีกอย่างหนึ่ง

หมวด ผ. ฝ.
ผักชีโรยหน้า – การทำความดีเพียงผิวเผิน
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง – คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
ผีซ้ำด้ำพลอย – ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลง หรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย
ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน – พลอยเหลวไหลไปด้วยกัน
ฝนทั่งให้เป็นเข็ม – เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล
ฝากปลาไว้กับแมว – ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจ
ฝากผีฝากไข้ – ขอยึดเป็นที่พึ่งจนวันตาย
ฝ่าคมหอกคมดาบ – เสี่ยงภัยในสงคราม, เสี่ยงอันตรายจากอาวุธนานาชนิด

หมวด พ. ฟ.
พบไม้งามเมื่อยามขวานบิ่น – พบหญิงสาวที่ต้องใจเมื่อแก่
พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก – ความทุกข์ยากเกิดซ้อน ๆ เข้ามาในขณะเดียวกัน
พระอิฐพระปูน – นิ่งเฉย, ไม่รู้สึกยินดียินร้าย
พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ – เปลี่ยนแปงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ – รู้ทันกัน
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง – พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
เพชรตัดเพชร – คนเก่งต่อคนเก่งมาต่อสู้กัน
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร – การยอมแพ้ทำให้เรื่องสงบ
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด – ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อ
ไฟสุมขอน – อารมณ์ร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ในใจ

หมวด ม.
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก – พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน
มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี – เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี
มัดมือชก – บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอำนาจและจัดการเอาตามใจชอบ
มากหมอมากความ – มากคนก็มากเรื่อง
ม้าดีดกะโหลก – มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย
มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว – มีสมบัติเพียงเล็กน้อย แต่กังวลจนนอนไม่หลับ
มือถือสาก ปากถือศีล – มักแสดงตัวว่าเป็นคนมีศีลธรรม แต่กลับประพฤติชั่ว
มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ – ไม่ช่วยแล้วยังขัดขวางการทำงานของผู้อื่น
ไม่ดูตาม้าตาเรือ – ไม่พิจารณาให้รอบคอบ
ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ – ไม่มีเหตุย่อมไม่มีผล
ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ – ด่วนทำไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร
ไม้ใกล้ฝั่ง – แก่ใกล้ตาย
ไม้หลักปักขี้ควาย, ไม้หลักปักเลน – โลเล, ไม่แน่นอน
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก – อบรมสั่งสอนเด็กให้ประพฤติดีได้ง่ายกว่าอบรมสั่งสอนผู้ใหญ่

หมวด ย.
ยกตนข่มท่าน – พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า
ยกภูเขาออกจากอก – โล่งใจ, หมดวิตกกังวล
ยกเมฆ – เดาเอา, นึกคาดเอาเอง; กุเรื่องขึ้น
ยกหางตัวเอง – ยกยอตนเอง
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว – ทำอย่างเดียวได้ผล 2 อย่าง
ยิ้มด้วยปาก ถากด้วยตา – เยาะเย้ยด้วยกิริยาท่าทาง
ยืนกระต่ายขาเดียว – พูดยืนยันอยู่คำเดียว ไม่เปลี่ยนความคิดเดิม
ยุให้รำตำให้รั่ว – ยุให้ผิดใจกัน, ยุให้แตกกัน

หมวด ร.
รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา – ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลำบาก
รักพี่เสียดายน้อง - ลังเลใจ, ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ – รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่กันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้
ราชรถมาเกย – โชค ลาภ หรือยศตำแหน่งมาถึงโดยไม่รู้ตัว
ราชสีห์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ – คนที่มีอำนาจหรืออิทธิพลพอ ๆ กันอยู่รวมกันไม่ได้
รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง – ทำไม่ดีหรือทำผิดแล้วไม่รับผิด กลับโทษผู้อื่น
รีดเลือดกับปู – เคี่ยวเข็ญหรือบีบบังคับเอากับผู้ที่ไม่มีจะให้
รู้งู ๆ ปลา ๆ – รู้เล็ก ๆ น้อย ๆ, รู้ไม่จริง
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม – เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง – รู้จักเอาตัวรอดหรือปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์
เรียนผูกต้องเรียนแก้ – รู้วิธีทำก็ต้องรู้วิธีแก้ไข
เรือร่มในหนอง ทองจะไปไหน – คนในเครือญาติแต่งงานกันทำให้ทรัพย์มรดกไม่ตกไปอยู่กับผู้อื่น
เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ – มีอุปสรรคเมื่อใกล้จะสำเร็จ

หมวด ล.
ล้มหมอนนอนเสื่อ – ป่วยจนต้องนอนพักรักษาตัว
ลางเนื้อชอบลางยา – ของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งกลับไม่ชอบ
ลิ้นกับฟัน – การระทบกระทั่งกันบ้างแต่ไม่รุนแรงของคนที่ใกล้ชิดกัน
ลิ้นตวัดถึงใบหู – พูดจาตลบตะแลงเชื่อไม่ได้
ลูกไก่อยู่ในกำมือ – ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่มีทางหนีหรือทางต่อสู้
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น – ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
เล่นกับหมา หมาเลียปาก – ลดตัวลงไปหรือวางตัวไม่เหมาะสมจึงถูกลามปาม
เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ – เลี้ยงลูกศัตรูหรือลูกคนพาลจะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
เลือกที่รักมักที่ชัง – ลำเอียง
เลือกนักมักได้แร่ – เลือกนักมักจะได้ที่ไม่ดี (มักใช้พูดตำหนิผู้เลือกคู่ครอง)
เลือดข้นกว่าน้ำ – ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น

หมวด ว. ศ.
วัดรอยเท้า – คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น
วันพระไม่มีหนเดียว – วันหน้ายังมีโอกาสอีก (มักใช้พูดเป็นเชิงอาฆาต)
วัวลืมตีน – คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน
วัวสันหลังหวะ – คนที่มีความผิดติดตัวทำให้มีความหวาดระแวง
วัวหายล้อมคอก – เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข
ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง – ตำหนิผู้อื่นเรื่องใดแล้วตนก็กลับทำในเรื่องนั้นเสียเอง
ศิษย์คิดล้างครู – ศิษย์เนรคุณที่มุ่งคิดจะทำลายล้างครูบาอาจารย์
ศิษย์นอกครู – ศิษย์ที่ประพฤติไม่ตรงตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

หมวด ส.
สร้างวิมานในอากาศ – ใฝ่ฝันถึงความมั่งมี, คิดคาดหรือหวังจะมี หรือเป็นอะไรอย่างเลิศลอย
สวยแต่รูป จูบไม่หอม – มีคูปร่างหน้าตาสวย แต่มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่ดี
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ – ความสุขที่เกิดจากการทำความดี หรือความทุกข์ที่เกิดจากการทำความชั่วย่อมอยู่ในใจของผู้ทำเอง
สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ – สอนสิ่งที่เขารู้ดีหรือที่เขาถนัดอยู่แล้ว
สันหลังยาว – คำเรียกคนเกียจคร้านเอาแต่นอน
สาวไส้ให้กากิน – เอาความลับของฝ่ายตนไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน
สิ้นไร้ไม้ตอก – ยากไร้, ขัดสนถึงที่สุด, ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว
สิบเบี้ยใกล้มือ – ของหรือประโยชน์ที่ควรได้ก็เอาไว้ก่อน
สีซอให้ควายฟัง – แนะนำคนโง่ไม่มีประโยชน์
สุกเอาเผากิน – ทำลวก ๆ, ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่ง ๆ
สุนัขจนตรอก – คนที่ฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิต
เส้นผมบังภูเขา – เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก
เสือซ่อนเล็บ – ผู่ที่มีความเก่งกล้าสามารถแต่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ปรากฏ
เสือนอนกิน –คนที่ได้รับผลประโยชน์หรือผลกำไร โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ – ทำให้หมดราคี, ทำให้หมดมลทิน

หมวด ห.
หนักไม่เอา เบาไม่สู้ – ไม่มีความอดทนที่จะทำการงาน
หนามยอกเอาหนามบ่ง – ตอบโต้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน
หน้าไหว้หลังหลอก – ต่อหน้าทำเป็นดี แต่ลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย
หนีเสือปจระเข้ – หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง
หมาหวงราง – คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่น
หมาสองราง – คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่มักไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
หมาหวงห้าง – คนที่หวงชองที่ตนไม่มีสิทธิ์
หมาเห่าใบตองแห้ง – คนที่เก่งแต่พูด
หมายน้ำบ่อหน้า – มุ่งหวังจะได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง
หอกข้างแคร่ – คนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
หัวมังกุท้ายมังกร – ไม่เข้ากัน, ไม่กลมกลืนกัน
หัวล้านได้หวี – ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว – ทำประชด ซึ่งรังแต่จะเสียประโยชน์
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว – เห็นผิดเป็นชอบ, เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เห็นขี้ดีกว่าไส้ – เห็นคนอื่นดีกว่าญาติพี่น้อง
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง – ทำเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีกำลังทรัพย์หรือความสามารถพอ
เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ – หยิบหย่ง, ทำอะไรไม่จริงจัง, ไม่เอาการเอางาน
เหยียบเรือสองแคม – ทำทีเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่าย

หมวด อ.
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน – อดใจไว้ก่อน เพราะหวังสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า
อ้อยเข้าปากช้าง – สิ่งหรือประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือแล้วไม่ยอมคืน
อาบน้ำร้อนมาก่อน – เกิดก่อนจึงมีประสบการณ์มากกว่า
เอาทองไปรู่กระเบื้อง, เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ – โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาล หรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควร
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน – แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า
เอามือซุกหีบ – หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่ที่
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง – คัดค้านผู้ใหญ่ ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า หรือผู้ที่มีฐานะสูงกว่า ย่อมไม่สำเร็จ และอาจได้รับผลร้ายแก่ตัวเองอีกด้วย
เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ –  แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

            และนี่ก็คือ สำนวน สุภาษิตไทย ที่บ่งบอกได้ถึงวัฒนธรรมทางความคิดของคนไทยได้เป็นอย่างดี หวังว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ จะมีความรู้ความเข้าใจในสำนวน สุภาษิตไทย มากยิ่งขึ้นนะคะ^^


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  ipesp.ac.thkkw.ac.th, หนังสือสุดยอดความรู้รอบตัว โดยฝ่ายวิชาการภาษาไทย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)


สำนวนสุภาษิตไทย
ความหมายของสำนวนสุภาษิต
สำนวน เป็นคำกล่าวที่คมคาย กะทัดรัดงดงาม และฟังดูไพเราะจับใจ รวมเนื้อความของเรื่องยาว ๆ ให้สั้นลง เป็นคำกล่าวที่ใช้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย แต่กินความหมายลึกซึ้ง
สุภาษิต หมายถึง คำกล่าวที่ดีงาม เป็นคำสั่งสอนที่มุ่งแนะนำให้ปฏิบัติ ให้ประพฤติดี ประพฤติชอบ หรือให้ละเว้น
หมวด ก
ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง    หมายถึง    คนเราจะสวยได้ก็ด้วยการรู้จักแต่งตัว
กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา    หมายถึง    คนที่เนรคุณ
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้    หมายถึง    ช้าเกินการ ได้อย่างเสียอย่าง
กิ้งก่าได้ทอง    หมายถึง    คนที่ได้ดี ลืมตัว ลืมอดีต
กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง    หมายถึง    ตัวเองรู้เอง ทำเอง
ไก่แก่แม่ปลาช่อน    หมายถึง    ผู้หญิงสูงอายุ ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว
ใกล้เกลือกินด่าง    หมายถึง    ใกล้ของดี แต่ไม่ได้กิน
ก่อกรรมทำเข็ญ    หมายถึง    ทำให้ยุ่งยากลำบากใจ
กิ่งทองใบหยก    หมายถึง    คู่แต่งงานที่เหมาะสมกัน
กินข้าวร้อนนอนสบาย    หมายถึง    เกียจคร้าน ขอบทำอะไรจวนตัว

หมวด ข
ขิงก็ราข่าก็แรง    หมายถึง    ต่างฝ่ายต่างแรงด้วยกัน
ขี้ริ้วห่อทอง    หมายถึง    ดูภายนอกไม่สวยงามแต่ข้างในมีค่ามาก
ข้าวยากหมากแพง    หมายถึง    เกิดขัดสนอาหารขึ้นในบ้านเมือง
ไข่ในหิน    หมายถึง    ของที่ระมัดระวังอย่างมาก
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน    หมายถึง    ทำอาการโกรธจัดเต็มที่
ขมิ้นกับปูน    หมายถึง    เป็นศัตรูกัน เข้ากันไม่ได้
ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง    หมายถึง    เรื่องเล็ก ๆ น้อย
ข้าวใหม่ปลามัน    หมายถึง    คนที่แต่งงานกันใหม่ ๆ ย่อมมีความสุขสดชื่น
ขว้างงูไม่พ้นคอ    หมายถึง    ไม่รู้ว่าจะทำอย่าไรดี
เขียนเสือให้วัวกลัว    หมายถึง    ขู่หรือหลอกให้กลัว
  
หมวด ค
คางคกขึ้นวอ    หมายถึง    คนถ่อยหรือต่ำช้า
คาบลูกคาบดอก    หมายถึง    คับขัน สองแง่สองมุม ครึ่งดีครึ่งเสีย
คตในข้องอในกระดูก    หมายถึง    ไม่ซื่อ
คบคนจรหมอนหมิ่น    หมายถึง    คบกับคนที่ไม่รู้จักกันดี อาจมีอันตรายได้ง่าย
คลื่นกระทบฝั่ง    หมายถึง    เอะอะเอาประเดี๋ยว แล้วก็เงียบหายไป
คู่เรียงเคียงหมอน    หมายถึง    การเป็นสามีภรรยากัน
คอตก    หมายถึง    ผิดหวังอย่างแรง
คอเป็นเอ็น    หมายถึง    เถียงอย่างไม่ลดละ
คมในฝัก    หมายถึง    เก่งแต่เงียบไว้ไม่โอ้อวด
คิดบัญชี    หมายถึง    แก้แค้น

หมวด ง
งูกินหาง    หมายถึง    พัวพันนุงนัง
งอมพระราม   หมายถึง     ตกทุกข์เหมือนพระรามต้องถูกขับไล่ไปอยู่ป่า
เงาตามตัว    หมายถึง    ไปไหนไปด้วย
เงื้อมมือ   หมายถึง     อำนาจที่ครอบงำ ไม่ให้หลุดไปได้
งมเข็มในมหาสมุทร    หมายถึง    งานที่ยากลำบาก
งูเงี้ยวเขี้ยวขอ     หมายถึง   เป็นคำเตือนของผู้ใหญ่ ไม่ให้ไปไหนเวลากลางคืน
เหงื่อไหลไคลย้อย     หมายถึง   ออกแรงทำงานหนัก ๆ
โง่เง่าเต่าตุ่น    หมายถึง    โง่เหลือเกิน
เงื้อง่าราคาแพง   หมายถึง     เมื่อคิดจะทำอะไรใครก็ลงมือทำเลย อย่ามัวเงื้อไม้เงื้อมือ


หมวด จ
ใจปลาซิว    หมายถึง    ไม่อดทน
จิ้งจกตีนศาล    หมายถึง    พวกกระจอกงอกง่อย
เจ้ายศเจ้าอย่าง    หมายถึง    ถือตัวถือศักดิ์ มีพิธีรีตรอง
เจ้าชู้ประตูดิน    หมายถึง    เจ้าชู้ที่เกี้ยวไม่เลือกหน้า
เจ้าชู้ไก่แจ้    หมายถึง    เจ้าชู้ที่ชอบกรีดกรายไปมา
จับเสือมือเปล่า    หมายถึง    การทำงานโดยไม่ได้ลงทุน
จับแพะชนแกะ    หมายถึง    เอาทางโน้นมาใช้ทางนี้
จูบคำถลำแดง    หมายถึง    มุ่งอย่างหนึ่ง กลับไปได้อีกอย่างหนึ่ง

หมวด ฉ
เฉโก    หมายถึง    ฉลาดแกมโกง
แฉโพย    หมายถึง    เปิดให้เห็นความลับ
ฉับพลันทันด่วน    หมายถึง    โดยเร็ว
ฉลาดแกมโกง    หมายถึง    ฉลาดในทางทุจริต
ฉิบหายขายตน    หมายถึง    ล่มจม
ฉิบหายวายป่วง     หมายถึง   ล่มจม
ฉกชิงวิ่งราว    หมายถึง    พวกที่ถือโอกาสแย่งชิงทรัพย์
ฉ้อราษฎร์บังหลวง     หมายถึง   เบียดบังเงินหลวง

หมวด ช
ชักใบให้เรือเสีย    หมายถึง    ทำเรื่องให้แชเชือน
ชักแม่น้ำทั้งห้า    หมายถึง    ยกเหตุผลหว่านล้อม
ชักหน้าไม่ถึงหลัง    หมายถึง    ใช้จ่ายไม่เพียงพอ
ชักธงขาว    หมายถึง    ยอมแพ้
ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน    หมายถึง    นำข้าศึกหรือศัตรูเข้าบ้านเมือง
ชาติเสือไม่ทิ้งลาย    หมายถึง    คนเก่งย่อมมีแววปรากฏอยู่
ชิงสุกก่อนห่าม    หมายถึง    กระทำในสิ่งที่ไม่ถึงเวลา
ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้    หมายถึง    ว่าอะไรว่าตามกัน
ชี้โพรงให้กระรอก    หมายถึง    ชี้ช่องให้คนร้าย
ชุบมือเปิบ    หมายถึง    ฉวยเอาผลประโยชน์เมื่อคนอื่นทำสำเร็จแล้วโดยมิต้องลงทุน

หมวด ซ
ซุ่มคม    หมายถึง    ซ่อนความฉลาดไว้ไม่อวดดี
ซื้อดีกว่าขอยืม     หมายถึง   อย่าหวังพึ่งพาผู้อื่น
ซื่อตรงจงรัก    หมายถึง    ภักดี
ซาบซึ้งตรึงใจ    หมายถึง    ถูกใจมากจนจำได้แนบเนียน
ซัดเซพเนจร    หมายถึง    เที่ยวไปเรื่อย ๆ ไม่มีจุดหมาย
ซื้อร่มหน้าฝน    หมายถึง    ซื้อของโดยไม่วางแผนล่วงหน้าย่อมได้ราคาแพง
ซื่อเหมือนแมวนอนหวด    หมายถึง    ซื่อจนเซ่อ
ซังกะตาย    หมายถึง    ทนอยู่อย่างไม่มีความหวัง ฝืนใจ อย่างเสียมิได้

หมวด ด
ได้พี่เสียดายน้อง    หมายถึง    ได้ของสิ่งหนึ่ง ยังเสียดายอยากได้อีกสิ่งหนึ่ง
ดาบสองคม    หมายถึง    มีทั้งโทษและคุณ อาจดี อาจเสียก็ได้
ดาวล้อมเดือน    หมายถึง    มีบริวารแวดล้อมมาก
ดินพอกหางหมู     หมายถึง   การงานที่คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
ได้ทีขี่แพะไล่    หมายถึง    ซ้ำเติมเมือเห็นผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำ
เด็กเลี้ยงแกะ   หมายถึง     คนชอบพูดปดจนไม่มีใครเชื่อถือ
เด็ดดอกฟ้า    หมายถึง    เอาหญิงสูงศักดิ์มาเป็นภรรยา
ได้หน้าได้ตา    หมายถึง    ได้ชื่อเสียงเกียรติยศ

หมวด ต
เต่าใหญ่ไข่กลบ    หมายถึง    ทำผิดแล้วพรางความผิด
ตกนรกทั้งเป็น   หมายถึง     ได้รับความลำบากแสนสาหัส
ตัดหางปล่อยวัด    หมายถึง    เหลือขอจนต้องปล่อยให้ไปตามเรื่อง
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง     หมายถึง   อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมก็ย่อมไม่เกิดผล
ต่อความยาวสาวความยืด    หมายถึง    พูดว่ากันไปกันมา ไม่รู้จักจบ
ตัดช่องน้อยแต่พอตัว   หมายถึง     ตายหนีความลำบากไปคนเดียว
ตักน้ำรดหัวตอ    หมายถึง    พูดเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง
ตาบอดได้แว่น    หมายถึง    ได้ในสิ่งที่ตนไม่มีทางจะใช้
ตีปลาหน้าไซ    หมายถึง    เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของผู้อื่น
ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก     หมายถึง   ต่อหน้าทำเป็นดีลับหลังกลับเป็นคนเลว

หมวด ถ
ถึงพริกถึงขิง    หมายถึง    เผ็ดร้อน หรือดุเดือด
ถอยหลังเข้าคลอง    หมายถึง    กลับไปสู่ความไม่ก้าวหน้า
ถอนรากถอนโคน   หมายถึง     ทำลายสิ้นเชื้อสาย
ถอนหงอก    หมายถึง    ไม่นับถือความเป็นผู้ใหญ่ พูดว่าให้เสียผู้ใหญ่
ถึงลูกถึงคน    หมายถึง    รุนแรง
ถอดเขี้ยวถอดเล็บ    หมายถึง    ละพยศ ละความเก่งกาจ
ถีบหัวส่ง   หมายถึง     ไล่ไปให้พ้น ไม่ใยดีอีกต่อไป
ถูกเส้น    หมายถึง    เข้ากันได้ ชอบพอกัน
เถรตรง      หมายถึง  ซื่อหรือตรงเกินไป ไม่มีไหวพริบ
ถ่านไฟเก่า     หมายถึง   คนที่เคยเป็นคู่รักกันมาก่อน แม้เลิกกันไปเมื่อมาพบใหม่ก็อาจรักกันได้

หมวด ท
ทิ้งไผ่ตัวเก็ง    หมายถึง    หวังชนะแน่นอน
ทรัพย์ในดินสินในน้ำ    หมายถึง    ความอุดมสมบูรณ์
แทงใจดำ     หมายถึง   พูดเสียดแทงถูกเป้าหมาย
ทะลุปรุโปร่ง    หมายถึง    อ่านความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ตลอดหมด
ทางหนีทีไล่    หมายถึง    คิดการอะไรไว้ ก็คิดถึงทางที่จะเสียไว้ด้วย
เทือกเถาเหล่ากอ    หมายถึง    ลำดับวงศ์ญาติที่เป็นพี่น้องกัน
ทุกข์ทนหม่นไหม้     หมายถึง   ความทุกข์ยากขนาดหนัก
เทศน์ไปตามเนื้อผ้า   หมายถึง     พูดหรือสั่งสอนไปตามตำรา
ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน     หมายถึง   เฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทุบหม้อข้าว    หมายถึง    ตัดอาชีพ ทำลายอาชีพ


หมวด น
น้ำท่วมปาก    หมายถึง    พูดไม่ออกบอกไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นบีบบังคับ
น้ำนิ่งไหลลึก    หมายถึง    คนที่เงียบ หงิม ๆ มักจะมีความคิดลึกซึ้ง
น้ำลดตอผุด    หมายถึง    เมื่อหมดอำนาจวาสนาความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฎ
น้ำขึ้นให้รีบตัก     หมายถึง   มีโอกาสดีควรรีบทำ
ในน้ำมีปลาในนามีข้าว    หมายถึง    ความอุดมสมบูรณ์
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า    หมายถึง    คนเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน
น้ำท่วมทุ่มผักบุ้งโหรงเหรง    หมายถึง    พูดมากแต่หาสาระไม่ได้
น้ำซึมบ่อทราย     หมายถึง   สิ่งที่ตักตวงไม่มีวันหมดสิ้น
น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ   หมายถึง     ฝ่ายข้างน้อยย่อมแพ้ฝ่ายข้างมาก
น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก     หมายถึง   รู้จักเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้

หมวด บ
บ้านเมืองมีขื่อมีแป    หมายถึง    บ้านเมืองหรือประเทศย่อมมีกฏหมายคุ้มครอง
บนบานศาลกล่าว     หมายถึง   ขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาช่วยเหลือ
บ้านแตกสาแหรกขาด    หมายถึง    กระจัดกระจายแยกกันไปคนละทิศละทาง
เบี้ยวหัวแตก    หมายถึง    เงินที่ไม่เป็นก้อนเป็นกำ เงินที่ได้มาครั้งละน้อย
เบียดก่อนบวช    หมายถึง    มีภรรยาก่อนบวช
บุญทำกรรมแต่ง    หมายถึง    พรหมลิขิต โชควาสนา
บุญหนักศักดิ์ใหญ่    หมายถึง    คนมีอำนาจวาสนา
บาปบุญคุณโทษ    หมายถึง    ตักเตือนให้รู้ถึงความดีความชั่ว
บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน    หมายถึง    สถานที่ตนเคยอยู่มาก่อน
บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น     หมายถึง   ไม่ให้เดือนร้อนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

หมวด ป
ปลูกเรือนคร่อมตอ    หมายถึง    แต่งงานกับชายที่มีเจ้าของแล้ว
ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง    หมายถึง    สร้างสรรเอาตามใจชอบ
ปากคอยาวกว่าปากกา     หมายถึง   คนสามารถแพร่ข่าวได้เร็วกว่ากา
ปากเป็นเอกเลขเป็นโท    หมายถึง    การพูดจากสำคัญกว่าวิชาหนังสือ
ปากหวานก้นเปรี้ยว   หมายถึง     พูดจาอ่อนหวาน แต่ไม่ยอมเสียเปรียบใคร
ปากหอยปากปู   หมายถึง     มักนินทาเล็กนินทาน้อย
ปากร้ายใจดี   หมายถึง     ชอบดุด่า แต่มีเมตตากรุณา
ปากว่าตาขยิบ   หมายถึง     พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำตรงกันข้าม
ปลากระดี่ได้น้ำ   หมายถึง     แสดงทำดีใจจนเกินงาม
ปีกกล้าขาแข็ง    หมายถึง    สามารถดำรงชีวิต หรือทำมาหาเลี้ยงตนได้

หมวด ผ
ผงเข้าตา    หมายถึง    มีเรื่องเดือดร้อนเกิดกับตน
ผ่อนสั้นผ่อนยาว    หมายถึง    อะลุ้มอะล่วย ปฏิบัติให้สมควรแก่สิ่งแวดล้อม
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง   หมายถึง     คนแต่งเก่า ๆ ขาด ๆ แต่ร่ำรวยมีทรัพย์
ผีซ้ำด้ามพลอย     หมายถึง   เมื่อตกอับหรือเคราะห์ร้าย
ผีถึงป่าช้า    หมายถึง    ต้องทำเพราะจำใจ
ผู้ดีแปดสาแหรก     หมายถึง   คนหยิบโหย่ง คนดัดจริต ทำอะไรไม่เป็น
ผู้ลาภมากดี    หมายถึง    ผู้ดีทั้งหลาย คนมีตระกูล หรือบรรดาศักดิ์สูง
ผิดเป็นครู     หมายถึง   พลาดลงแล้ว จำไว้จะได้ไม่ได้พลาดอีก
ผักชีโรยหน้า    หมายถึง    ทำดีพอพ้นตัว ความดี หรือความสวยที่งาม ลวงตาได้เพียงผิวเผิน
แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา    หมายถึง    ไม่หมดสิ้นเพียงแค่นี้ ยังมีอีกมากมาย

หมวด พ
พุ่งหอกเข้ารก    หมายถึง    ทำโดยเสี่ยงหาผลประโยชน์อันใดมิได้
เพชรตัดเพชร   หมายถึง     เก่งต่อเก่งเผชิญกัน
เพชรน้ำหนึ่ง   หมายถึง     ของดีเยี่ยม คนดีเยี่ยม
เพชรร้าว    หมายถึง    หญิงสาวที่ไม่บริสุทธิ์แท้
แพแตก     หมายถึง   กระจัดกระจายไปคนละทิศ
แพะรับบาป    หมายถึง    คนผู้รับกรรมแทนการกระทำของผู้อื่น
พลัดที่นาคาที่อยู่    หมายถึง    ย้ายไปจากที่อยู่ ระเหเร่ร่อน
พายเรือทวนน้ำ   หมายถึง     ทำด้วยความยากลำบาก
พูดจนลิงหลับ    หมายถึง    พูดจนผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม
พิมเสนแลกเกลือ     หมายถึง   คนมีเกียรติมีเรื่องราวกับคนเลว จะทำให้เสื่อมเกียรติไปไม่สมค่าสมราคา

หมวด ฟ
ฟังความข้างเดียว    หมายถึง    รับรู้เรื่องจากฝ่ายเดียวแล้วด่วนตัดสิน
ฟ้าไม่กระเทือนสันหลัง    หมายถึง    โทษทัณฑ์หรือเคราะห์กรรมที่เกิดจากอำนาจเบื้องบน
ไฟจุกตูด    หมายถึง    มีธุระร้อนมาก
ไฟสมขอน     หมายถึง   อารมณ์ร้อนรุ่มที่คุกรุ่นอยู่ในใจ
ไฟไหม้ฟาง    หมายถึง    อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างวู่วามสักพักหนึ่งแล้วก็หายไป
ฟื้นฝอยหาตะเข็บ     หมายถึง   คุ้ยเขี่ยเอาเรื่องที่สงบแล้วให้กลับมาเป็นเรื่องอีก
ฟังหูไว้หู    หมายถึง    เชื่อบ้าง ระแวงบ้าง อย่าเชื่อสนิทเชื่อเพียงครึ่งเดียว
ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ     หมายถึง   กาลเทศะ ที่สูงที่ต่ำ ของสูงของต่ำ
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด    หมายถึง    รู้เรื่องไม่ละเอียดถี่ถ้วน ก็ถือเป็นจริงเป็นจริง
ฟาดเคราะห์    หมายถึง    ตัดสินใจยอมเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเพื่อให้หมดเคราะห์

หมวด ม
มดแดงแฝงพวงมะม่วง    หมายถึง    ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่อยู่
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก    หมายถึง    คนกลับกลอกเอาแน่นอนอะไรไม่ได้
มะนาวไม่มีน้ำ   หมายถึง    พูดไม่น่าฟัง
มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี    หมายถึง    คนจนมักตื่นเต้นเมื่อร่ำรวย
มือใครยาวสาวได้สาวเอา   หมายถึง     ใครดีใครได้
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ    หมายถึง    ไม่ช่วยแล้วยังกีดขวาง
ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย   หมายถึง     ไม่มีเค้ามาก่อน
แมวไม่อยู่หนูร่าเริง   หมายถึง     ผู้ใหญ่ไม่อยู่ผู้น้อยเหลิง
ม้าดีดกระโหลก    หมายถึง    กริยาที่หญิงเดินไม่สุภาพ
มือถือสากปากถือศีล    หมายถึง    ไปวัดฟังธรรมถือศีล แต่กระทำตนไม่ดีหรือพูดดีแต่ใจไม่ดี

หมวด ย
ยาจกเห็นใจเศรษฐี    หมายถึง    จะทำอะไรก็ให้ถูกต้องตามเหตุผล
ย้อมแมวขาย    หมายถึง    ปรุงแต่งของเลวแล้วหลอกว่าเป็นของดีขาย
ยื่นหมูยื่นแมว    หมายถึง    แลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยไม่ให้เสียเปรียบ
โยนกลอง    หมายถึง    โยนความผิดให้ผู้อื่น
ยกเมฆ     หมายถึง   พูดเดาสุ่ม
ยกยอปอปั้น   หมายถึง     ยกย่องหรือสรรเสริญ หรือสนับสนุนให้เด่นขึ้น
ยกภูเขาออกจากอก     หมายถึง   หายหนักใจ
ยามรักน้ำต้มผัก ก็ว่าหวาน    หมายถึง    เมื่อรักก็เห็นดีทุกอย่าง
ยกครูต่อหน้า ยอข้าเมื่อลับหลัง     หมายถึง   ยกย่องครูต่อหน้ายกย่องชมเชยผู้น้อยลับหลัง

หมวด ร
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี    หมายถึง    ให้รู้จักเอาตัวรอด
รู้เช่นเห็นชาติ    หมายถึง    รู้กำพืด รู้นิสัยใจคอ
รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา     หมายถึง   ให้ประพฤติตนดี จะได้ดี
รักสนุกทุกข์ถนัด    หมายถึง    สนุกมาก ก็มักจะทุกข์มาก
ร่มไม้ชายคา    หมายถึง    ที่อยู่อาศัย
รวบหัวรวบหาง    หมายถึง    ฉวยโอกาสเอาหรือทำให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
ร่วมหัวจมท้าย   หมายถึง     ตกลงเป้นสามีภรรยากัน
รอดปากเหยี่ยวปากกา   หมายถึง     แคล้วคลาดและหลุดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ
รีดเลือดกับปู    หมายถึง    เคี่ยวเข็ญเอากับผู้ที่ไม่มีทางจะให้ เช่น รีดเงินจากคนจน

หมวด ล
เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ    หมายถึง    พี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น
ล้วงคองูเห่า   หมายถึง     กล้าทำชั่วโดยไม่เกรงกลัวผู้ใด
ลืมตัวเหมือนวัวลืมตัว   หมายถึง     ลืมพื้นเพเดิมของตนเอง
ลูกไก่ในกำมือ    หมายถึง    ผู้ที่ไม่มีทางต่อสู้
ลูกขุนพลอยพยัก    หมายถึง    ผู้น้อยคอยตามผู้ใหญ่
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น     หมายถึง   บุคคลย่อมเป็นตามเผ่าพันธุ์
ล้มลุกคลุกคลาน   หมายถึง     ดิ้นรนกระเสือกกระสน
ล้มหมอนนอนเสื่อ    หมายถึง    ป่วยเจ็บถึงขนาดต้องนอนรักษาตัว
ลาโง่    หมายถึง    คนโง่
ล้มทั้งยืน     หมายถึง   ฉิบหายหรือหมดตัวโดยกะทันหัส

หมวด ศ
ศอกกลับ    หมายถึง    ย้อนว่าสวนคำ กระทำการแก้แค้น
ศิษย์มีครู    หมายถึง    ศิษย์เก่งที่มีครูเก่ง
ศึกในอก     หมายถึง   ความรู้สึกนึกคิดที่สุดจะหักห้ามได้ การเอาชนะใจตนเอง
ศึกหน้านาง    หมายถึง    การวิวาทหรือต่อสู้กันต่อหน้าหญิงที่ตนหมายปอง
เศรษฐียังขาดไฟ    หมายถึง    คนเรามีวันผิดพลาด
ศาลา นารี คงคา    หมายถึง    สิ่งที่ถือว่าเป็นของกลาง
ศรศิลป์ไม่กินกัน   หมายถึง     ไม่ถูกกัน ไม่ลงรอยกัน ไม่ถูกชะตากัน ทำอะไรกันไม่ได้

หมวด ส
สวยแต่รูปจูบไม่หอม    หมายถึง    รูปร่างหน้าตาดีแต่ขาดคุณสมบัติสตรี
สอดรู้สอดเห็น    หมายถึง    แส่รู้ในเรื่องของคนอื่น
สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ   หมายถึง     สอนในสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว
สาวไส้ให้กากิน   หมายถึง     เอาความลับของฝ่ายตนไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้
สิบเบี้ยใกล้มือ    หมายถึง    ของหรือประโยชน์ที่อยู่ใกล้ก็เอาไว้ก่อน
สิบแปดมงกุฎ    หมายถึง    ผู้มีเล่ห์เหลี่ยมมาก
สีซอให้ควายฟัง    หมายถึง    สอนคนโง่ไม่มีประโยชน์
สุ่มสี่สุ่มห้า    หมายถึง    ไม่ดูหน้าดูหลัง
เสือซ่อนเล็บ    หมายถึง    คนคมในฝัก เก่งแต่เก็บไว้ไม่โอ้อวด
เสือกระดาษ   หมายถึง     อำนาจที่มีเป็นลายลักษณะอักษรเท่านั้น

หมวด ห
หาเหาใส่หัว    หมายถึง    หาความเดือนร้อนใส่ตัวโดยใช่เหตุ
หญ้าปากคอก     หมายถึง   คุ้นเสียจนมองข้ามไป
หนวดเต่า เขากระต่าย   หมายถึง     สิ่งที่หาได้ยากยิ่ง
หนอนหนังสือ     หมายถึง   คนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ
หน้าซื่อใจคด     หมายถึง   มีหน้าตาซื่อตรง แต่ในในคิดร้าย
หน้าเนื้อใจเสือ     หมายถึง   หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใจแต่ในใจดุร้าย
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว     หมายถึง   หลงผิดคิดว่าความชั่วเป็นความดี
หมองูตายเพราะงู   หมายถึง     ทำหน้าที่อะไรมักได้รับภัยจากหน้าที่นั้น
เห็นช้างขี้ ชี้ตามช้าง   หมายถึง     ทำอย่างผู้อื่นจนเกินกำลังตน
เห็นช้างเท่าหมู   หมายถึง     โกรธจัดจนขาดสติ

หมวด อ
อ้อยเข้าปากช้าง    หมายถึง    สิ่งตกอยู่ในมือใครแล้วยากจะได้คืน
อกไหม้ไส้ขม     หมายถึง   ความทุกข์อย่างแสนสาหัส
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน    หมายถึง    ค่อยทำค่อยไปแล้วจะได้ผลดี
อกสั่นขวัญแขวน   หมายถึง     ตกใจขนาดหนัก
อดอยากปากแห้ง   หมายถึง     ไม่มีอาหารจะกิน
เอาหูไปนาเอาตาไปไร่    หมายถึง    ทำไม่รู้ไม่เห็น
อย่าเทน้ำพริกไปกินแกง     หมายถึง   อย่าคาดคะเนล่วงหน้า โดยยังไม่เห็นผล
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน    หมายถึง    แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า
เอากุ้งฝอยไปตกปลากระพง    หมายถึง    ลงทุนน้อย หวังกำไรมาก
ที่มาจาก trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=1245

ส่วนตัวแล้วชอบ
กระต่ายตื่นตูมหมายถึง เมื่อได้ยินได้ฟังข่าวร้ายใดๆ ก็ตื่นตกใจเพราะเชื่อทันที โดยไม่พิจารณาเสียก่อนว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเชื่อโดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นของบล็อกประเพณีไทย จะมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น
ควรใช้คำพูดที่สุภาพและเหมาะสม ก่อนที่จะทำการแสดงความคิดเห็นของท่านสู่ที่สาธารณะ งดคำหลาบ คำว่าร้ายทุกกรณี หรืออื่นๆที่ทีมงานเห็นว่าไม่ดีไม่งาม
ขอลบทันทีโดยไม่บอกกล่าวหรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ขอบคุณครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น