วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทศกาลแปลกๆ ประเพณีไทยแปลกที่คุณอาจจะยังไม่เคยได้ยิน

หลายอาจคงจะเคยได้ยินประเพณีไทยกันมากมายแล้ว เช่น ประเพณีลอยกระทง วันสงกรานต์แต่ท่านเคยได้ยินประเพณีหรือเทศกาลด้านล่างนี้หรือไม่ อิอิ
 เทศกาลบุฟเฟต์สำหรับลิง จ.ลพบุรี
โพสรูปภาพ 

เทศกาลแปลกประหลาดที่สุดของสัตว์ไม่ใช่มีเพียงเเต่ของมนุษย์เท่านั้น ที่ลพบุรีของไทยเราเองก็ยังมีการจัดเทศกาลบุฟเฟต์สำหรับลิงกว่า 600 ตัวที่อยู่ในเมืองนี้ เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระรามที่ตบรางวัลให้แห่หนุมานด้วยแผ่นดินที่กลายเป็นเมืองลพบุรี บุฟเฟต์หน้าวัดพระปรางสามยอด ประกอบไปด้วยอาหารผักผลไม้สดๆ หลายร้อยกิโลกรัม พร้อมกับไอติมและเครื่องดื่ม งานนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมในท้องถิ่นซึ่งเต็มใจอย่างยิ่งเพราะกิจกรรม นี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นประจำทุกๆปี
เอ้า ใครเป็นลิงรีบๆเลยนะครับ ฮ่าๆ


ประเพณีแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง


ประเพณีแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง

ประเพณีแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร งานแห่พระแข่งเรือของจังหวัดชุมพร ถือว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน จัดการแข่งขันกันโดยทั่วไป แต่ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นๆ คือ การแข่งขันเรือที่อำเภอหลังสวน ซึ่งไม่ถือเอาเส้นชัยเป็นเกณฑ์การตัดสิน แต่ตัดสินกันที่ธง นายหัวเรือลำใดสามารถคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ก่อน ลำนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงของฝีพายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของนายท้ายเรือและนายหัวเรืออีกด้วย นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อให้นายหัวเรือขึ้นโขนเรือไปชิงธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ นายหัวเรือจะต้องกะจังหวะขึ้นโขน ขึ้นไปให้สุดปลายโขน เพื่อความได้เปรียบในการจับธง และคว้าธงให้มั่น ไม่ตกน้ำ แต่ถ้าในกรณีที่นายหัวเรือคว้าธงได้พร้อม ๆ กัน และได้ธงไปลำละท่อนจะถือว่าเสมอกัน งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน เป็นประเพณีเก่าแก่ของอำเภอหลังสวน ซึ่งมีมากว่า100 ปี จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) ของทุกปี ถือกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่เมืองสังกัสสะในชมพูทวีป พุทธศาสนิกชนจึงเดินทางไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางที่สะดวกในสมัยนั้นคือทางน้ำ จึงมีโอกาสพบปะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน พระเสด็จ ในอดีตชาวบ้านจะพายเรือลากพระจากวัดต่าง ๆ ตามลำน้ำหลังสวน มารวมกันสมโภชที่วัดด่านประชากร จัดให้มีการตักบาตร ทำบุญทอดกฐิน จากนั้นก็จะมีการแข่งเรือ ซึ่งมีเรือพายเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก ฝีพายแต่งกาย ด้วยเสื้อผ้าแพรวพรรณ หลากสีสวยงาม ร้องเพลงเรือเป็นที่สนุกสนาน ส่วนเรือแข่งขันกันจับคู่แข่งกัน ผู้ชนะก็ได้ผ้าสีไปคล้องหัวเรือเป็นรางวัล ลำไหนได้ผ้าสีมากก็เป็นลำที่ชนะ เมื่อเลิกพายแล้วก็จะนำผ้าแถบเหล่านั้นไปเย็บติดเป็นผ้าม่านถวายวัดต่อไป การแข่งขันเรือพายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ เรือมีความยาวมากขึ้นใช้ฝีพายมากขึ้น และในปี พ.ศ.2482 ได้มีการพายแข่งขันชิงขันน้ำพานรองของ พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้น ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปี จึงจะได้ขันน้ำพานรอง ใบนี้เป็นกรรมสิทธิ์ เรือต่าง ๆได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่หลายปีในที่สุดเรือแม่นางสร้อยทอง สังกัดวัดบรรพตวิสัย (วัดในเขา) ก็ได้ขันน้ำพานรองน้ำใบ นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2507 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศ สำหรับการแข่งขันเรือยาวและการประกวดเรือประเภทสวยงาม และในปี พ.ศ. 2522 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลยอดทอง เป็นรางวัลแก่เรือยาวชนะเลิศประเภท ข ปัจจุบันการแข่งเรือดังกล่าว มีระยะเวลาการจัดงานประมาณ 5 วัน บริเวณท่าน้ำหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลหลังสวน มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันกันมากมาย ทั้งที่มาจากจังหวัดใกล้เคียง และที่ห่างไกลออกไป เป็นประเพณีที่ชาวชุมพรภาคภูมิใจ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนโดยทั่วไปยังคงให้การสนับสนุน ร่วมแรงร่วมใจให้ประเพณีนี้คงอยู่สืบไป


ประเพณีตักบาตรดอกไม้

ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีที่สำคัญของอำเภอพระพุทธบาท โดยในวันเข้าพรรษาซึ่ง ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปทำบุญตัก บาตรที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เสร็จจากการทำบุญตักบาตรใน ตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มี 4 สี คือ สีเหลือง สีขาว สีม่วง และสีส้ม ลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือ ต้นขมิ้น ดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามไหล่เขา และจะมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษา เท่านั้น
การตักบาตรดอกไม้จะทำในตอนบ่าย ในขณะที่พระภิกษุอุ้มบาตรเดินขึ้น บันได จะรับดอกไม้จากประชาชนเพื่อนำไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หลังจากนั้นก็จะเดินลงมา ตลอดทางจะมีชาวบ้านนำขันน้ำลอยด้วยดอก พิกุล คอยอยู่ตามขั้นบันไดเพื่อล้างเท้าให้ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการ ชำระบาปที่ได้กระทำมาให้หมดสิ้นไป

ประเพณีกำฟ้า


เป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนในจังหวัดสิงห์บุรีซึ่งถือว่าเป็นการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือเทวดาผู้รักษาท้องฟ้า ทั้งนี้เพราะชาวบ้านมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากทวยเทพ ผู้รักษาท้องฟ้าแล้ว เทพยดาอารักษ์ก็จะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
"วันกำฟ้า" ของพวกไทยพวนในหมู่บ้านต่างๆ จะถูกจัดขึ้นไม่ตรงกัน แล้วแต่ท้องที่ แต่จะถือกันว่าให้จัดขึ้นภายใน 3 เดือน คือเดือนอ้ายขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ขึ้น 13 ค่ำ และเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ สำหรับในจังหวัดสิงห์บุรีจะถือเอาวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปีเป็นวันกำฟ้า
ในวันแรกของงานคือวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 หรือที่เรียกว่า "วันสุกดิบ" นี้ชาวบ้านจะช่วยกันทำ "ข้าวปุ้น"หรือ "ขนมจีน" กับทั้งน้ำยาหรือน้ำพริกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อนำ ไปทำบุญถวายพระที่วัดส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งแต่ต่อมาจะแจกจ่ายให้ตามบ้านญาติพี่น้อง เพื่อเป็นการแสดงความเอื้ออารีต่อกัน และถือเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่งน้อยกว่าได้มีการ เปลี่ยนจากข้าวปุ้นมาเป็นการเผา "ข้าวหลาม" แทน หรือที่เรียกกันว่า"ข้าวหลามทิพย์" แทนเพราะลงทุน และเก็บได้หลายวันบางคนจึงเรียกงานบุญกำฟ้าว่า "งานบุญข้าวหลาม" ก็มี
พิธีทางสงฆ์ในวันกำฟ้านี้ จะมีพระสงฆ์จำนวน 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น จากนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เรียกกันว่า "อาจารย์" จะแต่งชุดสีขาว ก็จะทำพิธีสวดเบิกบายศรีบูชาเทวดาพร้อมกับอัญเชิญเทวดาทั่วสารทิศมารับเครื่องสังเวยและดูพิธีกรรม มีการรำขอพรโดยหญิงสาวภายในหมู่บ้าน เสร็จจากการรำถวายแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับชาวบ้านเมื่อเสร็จจากทำบุญในตอนเช้าแล้ว ตอนบ่ายก็จะร่วมพิธีกรรมร่วมกันส่วนในตอนเย็นชาวบ้านก็จะร่วมกันเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น ไม้หึ่ม มอญซ่อนผ้า ช่วงรำวิ่งวัว(ใช้คนวิ่งเป็นคู่ๆ ผู้คว้าธงแดงได้ก่อนเป็นผู้ชนะ) ตีไก่ หรือการเล่นแตะหม่าเปย (คล้ายสะบ้า) กันอย่างสนุกสนาน
และต่อจากนี้ไปอีก 5 วัน ชาวบ้านก็จะจัดสำรับกับข้าวอาหารคาวหวานไปถวาย พระภิกษุที่วัดอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสร็จจากการทำบุญแล้วก็จะนำเอาฟืนซึ่งกำลังลุกอยู่ในเตาไฟ ดุ้นหนึ่งไปลอยในแม่น้ำลำคลอง ที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อเป็นการสักการะบูชาเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนท้องฟ้าเพื่อจะบันดาลให้ฝนตกลงมา และในช่วง 7 วันนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะคอยฟังเสียงฟ้าร้องคำรามว่ามาจากทิศใด ห่างหรือถี่ขนาดไหนแล้วก็จะทำนายทายทักไปตามทิศนั้นว่าปีนี้ฝนจะตกมากหรือตกน้อย การทำนาจะได้ผลดีหรือได้ผลน้อย เป็นต้น

ประเพณีปอยส่างลอง

ประเพณีปอยส่างลอง
ประเพณี "ปอยส่างลอง" หรือ "ประเพณีบวชลูกแก้ว" เป็นประเพณีประจำปีของชาวไตหรือไทยใหญ่เกือบทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีนี้เป็นการนำเด็กชายที่มีอายุครบบวชเข้าบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อกล่อมเกลาให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป
คำว่า "ปอยส่างลอง" เป็นภาษาไทยใหญ่ ซึ่งสามารถแยกศัพท์ออกได้คือ "ปอย"แปลว่างานหรือพิธีการ "ส่าง" หมายถึง สามเณร ส่วน "ลอง" แปลว่า ยังไม่ได้เป็น ฉะนั้น เมื่อนำมารวมกันจะหมายถึงพิธีการเตรียมตัวเป็นสามเณรนั่นเอง
กระบวนการปอยส่างลอง จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการชักชวนกันของชาวบ้านที่มีลูกหลานอายุครบบวช โดยจะมีการคัดเลือกเจ้าภาพใหญ่ ซึ่งจะเป็นแม่งานในการจัดงาน ซึ่งมักจะเป็นคหบดีหรือผู้กว้างขวางในสังคมโดยเจ้าภาพจะมีหน้าที่ในการร่วมกันกำหนดขั้นตอนของพิธีการ
ส่วนเด็กที่มีอายุครบบวช จะถูกนำตัวไปอยู่วัดเพื่อเรียนรู้วัตรปฎิบัติสำหรับการเป็นสามเณรก่อนพิธีการประมาณ 20 วัน ส่วนผู้ใหญ่ก็จะวางกำหนดการวันประกอบพิธีซึ่งจะแบ่ง เป็น 3 วัน วันรับส่างลองไปฝึกวัตรปฏิบัติที่วัดกลับมาประกอบพิธีที่บ้านเจ้าภาพ วันที่สองเป็นวันแห่เครื่องไทยทานและเรียกขวัญส่างลอง (คล้ายๆ กับการทำขวัญนาค) ซึ่งจะประกอบด้วยขบวนแห่ฟ้อนรำแบบไทยใหญ่ขบวนมโหรี ขบวนแห่เครื่องไทยทาน เครื่องอัฐบริขาร เทียนเงิน เทียนทอง เป็นต้น ซึ่งส่างลองจะถูกตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับที่สวยงาม และจะขี่คอผู้ช่วยที่เรียกกันว่า "ตาแปส่างลอง" ตลอดการเดินทาง และวันที่สามเป็นวันบรรพชา ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการบรรพชาในส่วนอื่นๆ ของประเทศเท่าใดนัก

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ในช่วงวันออกพรรษา นอกจากจะมีการทำบุญแล้ว ชาวอีสานในบางท้องที่ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจะช่วยกันทำปราสาทผึ้งเพื่อนำไปถวายวัดในคุ้มของตน จนกลายมาเป็นงานบุญประเพณีแห่งปราสาทผึ้งขึ้นเพื่อรักษาประเพณีดั้งเดิม โดยการจัดตกแต่งเครื่องสักการะเป็นรูปปราสาททำด้วยขี้ผึ้งเป็นส่วนประกอบ สำคัญ มีการออกแบบลวดลายและประดับประดาอย่างวิจิตรพิสดารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพราะเชื่อกันว่าในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกหลังจากที่เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดานั้น ทวยเทพ มวลมนุษย์ต่างก็จัดเครื่องสักการบูชามารับเสด็จปราสาทผึ้งและเรือไฟก็เป็นเครื่องสักการะในวันนั้นด้วยชาวบ้านจึงได้ทำปราสาทและเรือไฟมาถวายเป็นพุทธบูชาสืบต่อกันมางานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งมีขึ้นในหลายจังหวัดในจังหวัดในภาคอีสาน อาทิเช่น ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จะจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 เรื่อยไปจนถึงเช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหลังวันออกพรรษาที่จัดให้มีการตักบาตรเทโว
เช้าวันแรก จะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งของคุ้มวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนรถพร้อมกับสาวงามนั่งเป็นเทพประจำขบวน จะเคลื่อนเข้าสู่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานทั้ง 5 วัน เพื่อประกวดประชความงดงามให้ประชาชนได้ชม ในงานวันที่สองจะมีการแข่งเรือยาว หรือที่เรียกว่า "การส่วงเฮือ"จะมีไปจน ถึงวันที่ 3 ของงานซึ่งเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันที่ 4 เป็นวันที่คณะกรรมการจัดงานจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตัดสินความงามปราสาทผึ้ง ส่วนในวันที่ 5 พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร แต่ละคุ้มวัดก็จะร่วมกันปล่อยเรือไฟที่ช่วยกันทำให้ไหลไปตามแม่น้ำโขงเพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์
ส่วนงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ที่ อ.เมือง จ.สกลนครจะมีขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ในระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นเวลาสามวันวันแรกจะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งของคุ้มวัดต่างๆ เคลื่อน ไปยังสระพังทอง เพื่อประกวดและทำการตัดสิน เมื่อทราบผลการประกวดในวันที่สองแล้วจะเคลื่อนขบวนแห่ต่อไปยังองค์พระบรมธาตุเชิงชุมเพื่อถวายสักการะเป็นพุทธบูชาแด่หลวงพ่อองค์แสนและในวันที่สามเมื่อคณะ กรรมการทำพิธีมอบรางวัลให้แก่คุ้มวัดต่างๆ แล้วทั้งขบวนแห่ ผู้เข้าร่วมพิธี พุทธศาสนิกชนก็จะร่วมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเชิงชุมเพื่อเป็นการสักการะบูชา
นอกจากนี้ ในวันงานประเพณีจะมีการแข่งขันเรือยาว ฝีพายและมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณ ของอีสาน และมหรสพต่างๆ ให้ชมทุกคืน

ประเพณีงานบุญสลากภัต

ประเพณีงานบุญสลากภัต
ประเพณีสลากภัต เป็นประเพณีทำบุญที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก เพราะมิใช่ประเพณีใหญ่โตแบบตรุษหรือสารท มักจะทำตามบ้านที่นิยมเลื่อมใส หรือมีสิ่งของพอที่จะรวบรวมมาถวายพระหรือเข้าสลากภัตได้ก็จะจัดพิธีนี้ขึ้น ในทางภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า "ทานก๋วยสลาก" คำว่า "ก๋วย" แปลว่า"ตะกร้า" หรือ "ชะลอม"
"สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ทายกถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดกาล สุดแต่ศรัทธาสำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน 6 จนถึงเดือน 8 เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต มัคทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะกำหนดวัดและหาเจ้าภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำใบปิดไปปิดไว้หรือไปประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วมผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้ ครั้นถึงวันกำหนดผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าว และเครื่องไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียม สบู่ แปรงสีฟัน ข้าวสารน้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัด
จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้ว เขียนเบอร์หมายเลขให้พระจับพระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใดก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระที่นิมนต์มา ข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัตก็คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับเมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก(จับสลาก)ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย1กัณฑ์ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พรเจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี

ใครมีประเพณีแปลกๆตามท้องถิ่นหรือเทศกาลที่แปลกใหม่ แนะนำกันเข้ามาได้ครับ
ที่ https://www.facebook.com/siamtradition



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นของบล็อกประเพณีไทย จะมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น
ควรใช้คำพูดที่สุภาพและเหมาะสม ก่อนที่จะทำการแสดงความคิดเห็นของท่านสู่ที่สาธารณะ งดคำหลาบ คำว่าร้ายทุกกรณี หรืออื่นๆที่ทีมงานเห็นว่าไม่ดีไม่งาม
ขอลบทันทีโดยไม่บอกกล่าวหรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ขอบคุณครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น