วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. ๒๕๕๖
เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘๙/๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลอาจมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“ผู้ถูกจำกัด” หมายความว่า ผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทาง และอาณาเขตของผู้นั้น
“การจำกัดการเดินทางและอาณาเขต” ให้หมายความรวมถึง คำสั่งศาลให้จำคุกโดยวิธีการ ห้ามออกนอกเคหสถานหรือสถานที่อื่นใดในช่วงเวลาที่กำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
“อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า เครื่องอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องมือใด ๆ ที่ใช้ติดตามตัว หรือที่ใช้สวมใส่ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นใดของผู้ถูกจำกัด รวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดได้
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๒ ในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตแก่ผู้ซึ่งต้อง จำคุกผู้ใด ให้เจ้าพนักงานคำนึงถึงเหตุจำเป็นซึ่งรวมถึงเหตุ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
(๒) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ
(๓) ผู้ซึ่งต้องจำคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
(๔) ผู้ซึ่งต้องจำคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่น ๆ
ข้อ ๓ ในการยื่นคำร้องตามข้อ ๒ ให้เจ้าพนักงานผู้ร้องขอเสนอแนวทางปฏิบัติ เงื่อนไขหรือแผนดำเนินการประกอบการพิจารณาของศาลด้วย
ข้อ ๔ แนวทางปฏิบัติ เงื่อนไข หรือแผนดำเนินการตามข้อ ๓ เจ้าพนักงานผู้ร้องขออาจเสนอเงื่อนไขห้ามมิให้ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่อื่นใดในช่วงเวลาที่กำหนด ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ ๕ ให้เจ้าพนักงานจัดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผู้ถูกจำกัดตามสมควร เพื่อมิให้ บุคคลใดดัดแปลง ทำให้เสียหาย ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ เพื่อมิให้มีการบังคับตามคำสั่งศาล
ในกรณีที่พบว่ามีเหตุตามวรรคหนึ่ง หรือเหตุอื่นใดที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชำรุด เสียหายหรือไม่สามารถใช้บังคับได้ตามคำสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานต่อเจ้าพนักงานทราบทันที
ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกจำกัดฝ่าฝืนเงื่อนไข หรือสอบถามบุคคลที่อยู่ในที่นั้น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ อุปนิสัย และความประพฤติของผู้ถูกจำกัด
(๒) รายงานข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเป็นเหตุควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดแก่เจ้าพนักงานทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
(๓) สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือผู้ถูกจำกัดตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ
(๔) ตรวจสอบการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ เงื่อนไข และแผนดำเนินการที่ศาลให้ ความเห็นชอบตามข้อ ๓
ข้อ ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ เพื่อกำหนด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเงื่อนไขอื่นใด เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
Mthai News
เอกสารประกอบทั้งหมด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/028/15.PDF