วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติสุนทรภู่ วันสุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่ วันสุนทรภู่
Poo-2.jpg
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป

สุนทรภู่ จินตกวีเอกของไทย และของโลก

          สุนทรภู่ เป็นกวีไทยที่มีชื่อเสียง และมีความเป็นเอกในเชิงกลอน ท่านได้รับเกียรติจาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งคือเป็น กวีเอกของโลก  เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙   นับว่าท่านเป็นกวีสามัญเพียงคนเดียวที่ได้รับการสดุดียกย่องอย่างสูงส่งถึงขั้นเป็นกวีเอกของโลก

ผลงานบางส่วนของสุนทรภู่
เกร็ดความรู้ประวัติของสุนทรภู่
บทกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่


สุนทรภู่ กวีเอกของโลก

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]

หัวข้อ
ประวัติสุนทรภู่ วัยเด็ก

ประวัติสุนทรภู่ ก่อนรับราชการ

ยุคทองของสุนทรภู่

สุนทรภู่ยุคออกบวช

บั้นปลายชีวิตสุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่ วัยเด็ก
วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙): อายุแรกเกิด - ๒๐ ปี

          สุนทรภู่ เป็นบุตร ขุนศรีสังหาร (พลับ) นายทหารประจำป้อมปืนพระราชวังบวรสถานพิมุข (พระราชวังหลัง หรือวังหลัง) และแม่ช้อย แม่นมของพระองค์เจ้าจงกล หรือ เจ้าครอกทองอยู่ พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘  เวลาสองโมงเช้า (๘.๐๐ น.) ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย

          สุนทรภู่เกิดได้ไม่นานบิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำเมืองแกลง (อ.แกลง จ.ระยองปัจจุบันนี้) ส่วนมารดาคงเป็นนางนมของพระองค์เจ้าจงกล ต่อไป และได้แต่งงานมีสามีใหม่ โดยมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คนเป็นหญิง ชื่อฉิมและนิ่ม ส่วนตัวสุนทรภู่เองก็ได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่เล็กแต่น้อย  เมื่ออายุสมควรที่จะเรียนหนังสือแล้วก็ได้ไปเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน  หลังจากได้ร่ำเรียนจบแล้ว สุนทรภู่ก็ไปทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือในวัดชีปะขาว จนกระทั่งอายุได้ ๑๘ ปี  จึงได้ไปรับราชการเป็นเสมียน

          อย่างไรก็ดี  เนื่องจากสุนทรภู่มีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน รักในการแต่งกลอน แต่งบทสักวามากกว่าอย่างอื่น จึงทำให้สุนทรภู่ลาออกจากราชการ และกลับไปอาศัยในพระราชวังหลังตามเดิม พร้อมทั้งนำตนเองเข้าสู่โลกวรรณกรรม ทว่าสุนทรภู่ได้เกิดไปรักใคร่กับแม่จัน นางข้าหลวงในพระราชวังหลัง  ครั้นความทราบถึงกรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และแม่จันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน  เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณที่จะมีการปล่อยนักโทษเพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เมื่อเสด็จสวรรคตหรือทิวงคตแล้ว  

          แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่ และแม่จันก็ยังมิอาจสมหวังในรักเพราะผู้ใหญ่ของฝ่ายแม่จันคอยกีดกัน ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจไปถวายตัวเป็นศิษย์ของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสองค์เล็กในกรมพระราชวังหลังซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่ หรือวัดระฆังโฆสิตารามในปัจจุบันนั่นเอง

          ต่อมาพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงมีรับสั่ง ใช้สุนทรภู่ให้ไปยังเมืองบางปลาสร้อย (จังหวัดชลบุรี ในปัจจุบัน) และเป็นการใช้งานอย่างกระทันหัน ชนิดที่สุนทรภู่ไม่ทันได้เตรียมตัวเลย  สุนทรภู่ได้เดินทางไปยังเมืองบางปลาสร้อยตามรับสั่ง นอกจากนี้ยังได้ถือโอกาสไปเยี่ยมบิดาซึ่งบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ เมืองแกลงด้วย  เพราะนับตั้งแต่จำความได้ สุนทรภู่ไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อเลย เห็นแต่หน้าพ่อเลี้ยง (สามีใหม่ของแม่ช้อย) ซึ่งไม่ค่อยจะลงรอยสักเท่าใดนัก

          สุนทรภู่ออกเดินทางโดยนั่งเรือประทุนไปยังเมืองแกลง โดยออกจากกรุงเทพเมื่อเดือน ๓ (เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๔๙) เวลาประมาณเที่ยงคืน ณ ท่าน้ำวัดระฆังโฆสิตาราม โดยมีผู้เดินทาง ๔ คน เป็นศิษย์รุ่นน้องและคนนำทาง สุนทรภู่เดินทางในครั้งนี้ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน โดยที่สุนทรภู่เดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๙ (เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๔๙)  และด้วยเหตุนี้นี่เอง จึงทำให้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเรื่องแรกในชีวิตนั่นคือ นิราศเมืองแกลง โดยแต่งขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๕๐ ขณะมีอายุเพียง ๒๑ ปีเท่านั้น  อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ก็เกิดอาการเจ็บป่วยเกือบถึงชีวิต จากการเดินทางครั้งนั้นด้วย



สุนทรภู่ยังอยู่ในวัยเด็ก และกำลังเล่าเรียนอยู่ที่สำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน)

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]
ประวัติสุนทรภู่ ก่อนรับราชการ
ก่อนรับราชการ (พ.ศ.๒๓๔๙ - ๒๓๕๙): อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี

          สุนทรภู่หลังจากกลับจากเมืองแกลงแล้ว  สุนทรภู่ก็ได้ไปเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามเช่นเคย  ในช่วงนี้สุนทรภู่ก็สมหวังในรักเมื่อพระองค์เจ้าจงกล หรือเจ้าครอกทองอยู่ได้ไปสู่ขอแม่จันมาเป็นภรรยา และสุนทรภู่ก็ได้แม่จันมาเป็นภรรยาสมใจ  แต่อย่างไรก็ดี เมื่อแต่งงานกันไปได้เพียง ๕ เดือน  เนื่องด้วยสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ ติดเหล้า และมีเพื่อนฝูงมาก ทำให้เริ่มมีปากเสียงกับแม่จัน ยังไม่ทันได้คืนดีสุนทรภู่ก็ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทจ.สระบุรี ในวันมาฆบูชาเมื่อขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีพ.ศ.๒๓๕๐ (วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๕๐) และนี่เองที่สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเรื่องที่ ๒ ของตนขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์กลับถึงกรุงเทพฯ ในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีพ.ศ.๒๓๕๐ (วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๕๐)

          สุนทรภู่มีบุตรกับแม่จัน ๑ คนเป็นชายชื่อพัด  แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่น เพราะสุนทรภู่ยังคงประพฤติตนเป็นคนขี้เหล้า และเจ้าชู้ต่อไป ในที่สุดแม่จันก็ทนไม่ไหว ขอหย่าร้างสุนทรภู่ไป ส่วนพัดนั้น พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอกทองอยู่) ได้รับอุปการะเลี้ยงดูหนูพัดนั้นไว้ แต่หลังการหย่าร้างแม่จันไม่นาน ก็ไปได้ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ แม่นิ่ม ชาวสวนบางกรวย และมีบุตรด้วยกัน ๑ คนเป็นชายชื่อตาบ แต่ว่าหลังจากแม่นิ่มคลอดหนูตาบแล้ว ก็เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะตลอดมา และก็ตายไปเมื่อลูกยังอายุน้อยนี่เอง สุนทรภู่ก็กลายเป็นคนขี้เมาจนแทบจะเสียคน เพื่อจะให้ลืมความรักที่ขมขื่น  และก็พาหนูตาบไปฝากไว้ให้เจ้าครอกทองอยู่เป็นผู้เลี้ยงไว้เช่นเคยในวังหลังคู่กับหนูพัด ส่วนสุนทรภู่ก็หนีไปเพื่อบารมีของหม่อมบุนนาค พระชายาในกรมพระราชวังหลังที่จังหวัด เพชรบุรี  และทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาค ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองเพชร ที่ท่านย้อนรำลึกความหลังสมัยยังหนุ่มว่า

   ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค    เมื่อยามยากจนมาได้อาสัย
   มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล    มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

          นักเลงกลอนอย่างท่านสุนทรภู่ ทำไร่ทำนาอยู่นานก็ชักเบื่อ   หลังจากอยู่กับหม่อมบุนนาคมาได้ ๖ ปี  สุนทรภู่ได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี โดยมาอาศัยอยู่กับพระองค์เจ้าปฐมวงศ์อีกเช่นเคย แล้วหากินโดยการรับจ้างแต่งเพลงยาว บอกบทสักวา จนถึงบอกบทละครนอก และในช่วงนั้นเองสุนทรภู่ก็ได้แต่งนิทานเรื่องแรกของท่าน (สมัยนั้นเรียกกลอนนิทาน) ได้แก่เรื่อง โคบุตร ความยาว ๘ เล่มสมุดไทย เพื่อถวายแด่พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ การที่เกิดมีนิทานเรื่องใหม่ๆ ทำให้เป็นที่สนใจมาก เพราะสมัยนั้นมีแต่กลอนนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไม่กี่เรื่อง ซ้ำไปซ้ำมาจนคนอ่านคนดูรู้เรื่องตลอดหมดแล้ว  นิทานของท่านทำให้นายบุญยัง เจ้าของคณะละครนอกชื่อดังในสมัยนั้น มาติดต่อว่าจ้างสุนทรภู่ ท่านจึงได้ร่วมคณะละครของนายบุญยัง  เป็นทั้งคนแต่งบท และบอกบทเดินทางเร่ร่อนไปกับคณะละครจนทั่ว ดังตอนหนึ่งใน นิราศสุพรรณคำโคลง ท่านรำลึกถึงครั้งเดินทางกับคณะละครว่า

   บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง    คราวงาน
   บอกบทบุญยังพยาน    พยักหน้า
   ประทุนประดิษฐาน    แทนฮ่อง หอเอย
   แหวนประดับกับผ้า    พี่อ้างรางวัล

          ต่อมาไม่นาน ในปีพ.ศ.๒๓๕๘  สุนทรภู่ได้เขียนนิทานเรื่องสำคัญที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดนั่นคือเรื่อง พระอภัยมณี  ซึ่งมีความยาว ๙๔ เล่มสมุดไทย เพียงแต่ว่ายังคงแต่งเพียงช่วงต้นเรื่องเท่านั้น (ช่วงปลายเรื่องนั้น สุนทรภู่แต่งขึ้นเพื่อถวายแด่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ดูที่ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน) ซึ่งนิทานเรื่องนี้แปลกแหวกแนวยิ่งกว่านิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใดที่เคยมีมา เป็นนิทานที่มีทุกรสชาติ  ซึ่งจากนิทานเรื่องพระอภัยมณีนี้ ก็ทำให้คณะละครนายบุญยังโด่งดังเป็นพลุ และเป็นที่ต้องการของใครต่อใคร  และแน่นอนชื่อเสียงของท่านสุนทรภู่ก็โด่งดังไปไม่แพ้กันทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง



สุนทรภู่ยังอยู่ในวัยเด็ก และกำลังเล่าเรียนอยู่ที่สำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน)

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]
ยุคทองของสุนทรภู่
ยุคทองสุนทรภู่ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗): อายุ ๓๑ - ๓๘ ปี

          สุนทรภู่ ได้เข้าสู่ยุคซึ่งตนเองประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นมหากวี และทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง  ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการกวดขันฝึกหัดวิธีรำจนได้เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง เช่นเรื่องอิเหนา และเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

          สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ในกรมพระอาลักษณ์  หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสนพระทัยในฝีมือของสุนทรภู่ และยังทรงพอพระทัยในไหวพริบปฏิภาณของสุนทรภู่ด้วย เรื่องราวของสุนทรภู่ที่ได้แสดงฝีมือเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเล่าว่า  ครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย  บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละครกันมากล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า

         เอาภูษาผูกศอให้มั่น     แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
   หลับเนตรจำนงปลงใจ        อรไทก็โจนลงมา

ต่อไปก็เป็นบทของหนุมานที่ว่า

          บัดนั้น                    วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
   ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา        ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
   ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต             ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
   โลดโผนโจนลงตรงไป        ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
         ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง   ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
   หย่อนลงยังพื้นปัถพี            ขุนกระบี่ก็โจนลงมา

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติว่าบทเก่าตรงนี้ กว่าหนุมานจะเข้าช่วยเหลือนางสีดาได้ นางสีดาก็คงตายไปแล้ว จึงทรงพระราชนิพนธ์ตอนนี้ใหม่ หวังจะให้หนุมานได้เข้าช่วยเหลือนางสีดาได้โดยเร็ว ทรงแต่งบทนางสีดาว่า

          จึงเอาผ้าผูกผันกระสันรัด    แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
    หลับเนตรจำนงปลงใจ             อรไทก็โจนลงมา

          แต่แล้วก็เกิดขัดข้องที่ว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีที่ปรึกษาของพระองค์ก็ไม่มีใครสามารถแต่งบทให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยได้พระองค์จึงโปรดให้สุนทรภู่ซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ด้วยลองดู สุนทรภู่ได้แต่งว่า

          ชายหนึ่งผูกศออรไท      แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
          บัดนั้น                      วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย

          ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงยกย่องว่าสุนทรภู่แต่งได้เก่ง อีกคราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทในช่วงชมรถของทศกัณฐ์ว่า

          รถที่นั่ง                         บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
    กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล     ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
    ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง          เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
    สารถีขี่ขับเข้าดงแดน               พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

          ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงเท่านี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่ก็ได้แต่งต่อว่า

    นทีตีฟองนองระลอก                 กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
    เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน     อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
    ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท      สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
    บดบังสุริยันตะวันเดือน              คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

          กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก  นับแต่นั้นพระองค์ก็ทรงนับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งให้สุนทรภู่เป็นที่ ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนหลวงอาศัยที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ เป็นเนื่องนิจ  แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

          ระหว่างที่สุนทรภู่รับราชการ และพักอยู่ที่เรือนหลวงซึ่งได้รับพระราชทานมานั้น  ก็ได้รับบุตรชายทั้ง ๒ คนคือ พัด และ ตาบ ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดากัน ที่เดิมเจ้าครอกทองอยู่ได้ทรงพระเมตตารับอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง ๒ ของสุนทรภู่เอาไว้ให้กลับมาอยู่ด้วยกันที่เรือนหลวงแห่งนี้  แต่ว่ารับราชการไปนานขึ้น เนื่องด้วยสุนทรภู่เป็นคนใจกว้าง และมีเพื่อนฝูงมาก ทำให้การเลี้ยงดูสนุกสนานกินเหล้าเมายาเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนญาติผู้ใหญ่ต้องเตือนสุนทรภู่ แต่สุนทรภู่ก็มิได้เชื่อฟัง กลับหาเรื่องชกต่อยญาติผู้ใหญ่ท่านดังกล่าว จนถูกทูลถวายฎีกากล่าวโทษ  ครั้นความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงกริ้วสุนทรภู่ สั่งให้นำตัวสุนทรภู่ไปขังคุกไว้ ซึ่งถือเป็นการเข้าคุกครั้งที่ ๒ ของสุนทรภู่ (ครั้งแรกคือเมื่อติดคุกกับแม่จัน ภรรยาคนแรก) เมื่อราวปีพ.ศ.๒๓๖๗  และในช่วงที่ติดคุกนี้เอง สุนทรภู่ก็ได้แต่งนิทานคำกลอนออกมาขายโดยเป็นบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม ขนาด ๑ เล่มสมุดไทย

          แต่แล้ว ก็ถึงคราวโชคดีของสุนทรภู่  เมื่อคราหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องหนึ่งเรื่องใดติดขัด แล้วไม่มีผู้ใดจะต่อกลอนให้พอพระราชหฤทัยได้ ทำให้พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ไปเบิกตัวสุนทรภู่จากคุกเพื่อให้มาช่วยต่อกลอน ซึ่งสุนทรภู่สามารถต่อกลอนให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ทำให้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแด่สุนทรภู่ และให้เข้ากลับมารับราชการตามเดิม

          หลังจากที่สุนทรภู่ได้รับพระราชทานอภัยโทษกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร กวีที่ปรึกษาตามเดิมแล้ว  ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้สุนทรภู่ไปเป็นพระอาจารย์สอนหนังสือให้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชันษา ๕ ปี  สุนทรภู่ได้ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์จนทรงอ่านออกเขียนได้แล้ว  สุนทรภู่จึงได้แต่งสุภาษิตคำกลอนถวายเรื่องหนึ่งคือเรื่อง สวัสดิรักษา ความยาว ๑ เล่มสมุดไทย  ในปีพ.ศ.๒๓๖๗



สุนทรภู่ยังอยู่ในวัยเด็ก และกำลังเล่าเรียนอยู่ที่สำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน)


สุนทรภู่มีปากเสียงกับแม่จัน จนกระทั่งสุดท้าย แม่จันก็ได้ขอหย่าร้างสุนทรภู่

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]
สุนทรภู่ยุคออกบวช
ยุคออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕): อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี

          สุนทรภู่ เข้าสู่ยุคซึ่งถือว่าเป็นจุดพลิกผันทำให้ตนเองต้องตกระกำลำบากอย่างมาก ถึงขั้นต้องซัดเซพเนจรไปทั่ว โดยหลังจากที่สุนทรภู่รับราชการในกรมอาลักษณ์นานถึง ๓ ปี เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิต ได้ถึงเป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนักก็พลอยหมดวาสนาไปด้วย  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึงเหตุที่สุนทรภู่ไม่กล้ารับราชการต่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้

          เล่ากันว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ทรงแบ่งตอนนางบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บนพระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้นดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่ง และเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงวันจะอ่านถวาย พระองค์ทรงมีรับสั่งวานสุนทรภู่ให้ช่วยตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นถึงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งที่ว่า "น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัวปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว" สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี และขอแก้เป็น "น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลาว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว" ทรงโปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงกริ้ว และดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจ ทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไปไว้ติหักหน้ากลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง

          อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง    ตอนท้าวสามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่  ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า "จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา" ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า "ลูกปรารถนาอะไร" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องแก้เป็นว่า "จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา" ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒

          จะว่าโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจเพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม  สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ประกอบกับความอาลัยเสียใจหนักหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่จึงลาออกจากราชการ ซึ่งในช่วงนั้นสุนทรภู่เริ่มกลับมาตกระกำลำบากเหมือนเมื่อช่วงก่อนที่จะเข้ารับราชการ  ไม่มีบ้านที่จะอาศัยต้องอาศัยอยู่กับพัด และตาบ ผู้เป็นบุตรกันอยู่ ๓ คน พ่อลูก  จะหันหน้าไปพึ่งมารดา (คือแม่ช้อย) ก็เข้ากับพ่อเลี้ยงไม่ได้  จะหันไปพึ่งพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ซึ่งทรงประทับ ณ วัดระฆัง ก็กระดากใจ เพราะพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว จะไปเป็นศิษย์วัดเหมือนสมัยยังหนุ่ม ก็ดูจะกระไรอยู่  นอกจากนี้ บรรดาเพื่อนฝูงหรือเจ้านายพระองค์ใดก็ไม่กล้ารับอุปการะช่วยเหลือสุนทรภู่ เพราะเกรงพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไม่โปรดสุนทรภู่   แม้แต่เจ้าฟ้าอาภรณ์ที่สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือให้ ก็ยังทรงเมินเฉย ไม่ยอมรับอุปการะช่วยเหลือทำให้สุนทรภู่ตกระกำลำบาก  จนกระทั่งสุดท้าย สุนทรภู่ตัดสินใจเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพักตร์  เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่งของนิราศภูเขาทองว่า

          จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย      ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
    เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                  ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป

          สุนทรภู่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ในปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗  ขณะมีอายุได้ ๓๘ ปี ณ วัดระฆังโฆสิตาราม  โดยมีพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงอุปถัมภ์การบวชครั้งนี้และเมื่อบวชแล้วก็ได้เริ่มจำพรรษาอยู่ที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ ในปัจจุบันนั่นเอง

          หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว  หลังจากที่ได้จำพรรษาในวัดเลียบได้ประมาณปีหนึ่ง ก็ได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่าง  เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆนี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ  ราวปี พ.ศ.๒๓๗๐ ท่านก็กลับมาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ  แต่หลังจากกลับมาอยู่ได้ไม่นาน สุนทรภู่เกิดอธิกรณ์ (ความผิด) ขึ้น หลังจากที่สุนทรภู่ได้ไปทะเลาะวิวาทกับพระลูกวัด อาจด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง (บางแห่งสันนิษฐานว่าท่านเมาสุรา) ทำให้ถูกเจ้าอาวาสขับสุนทรภู่ออกจากวัด

          สุนทรภู่เมื่อถูกขับออกจากวัดเลียบแล้ว ก็กลับมาอยู่ในสภาพตกระกำลำบาก ไร้ที่อยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งสุนทรภู่เริ่มเบื่อหน่ายกับการจำพรรษาที่วัดในกรุงเทพฯ ทำให้ท่านตัดสินใจไปจำพรรษาที่วัดซึ่งห่างไกลจากความเจริญ  โดยที่หลังจากท่านได้รับกฐินในปลายปี พ.ศ.๒๓๗๑ ท่านก็ออกเดินทางไปกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) ไปพร้อม พัด ลูกชายคนโต โดยที่ลงเรือที่หน้าวัด และก็ออกเดินทางทันที แต่ปรากฏว่าท่านกลับมิได้ตัดสินใจจำพรรษาที่กรุงเก่าตามที่ได้ตั้งใจไว้

          อย่างไรก็ดี ท่านเดินทางไปไหว้สักการะพระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่นั่น พร้อมด้วยหนูพัด ลูกชายคนโตนั่นเอง และหลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ได้เดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ  แต่ได้ย้ายวัดมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)  และที่นั่นเอง สุนทรภู่ก็ได้แต่งนิราศภูเขาทอง  อันเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่าน และเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของวงการกวีไทย เพราะได้รับการยกย่องทั้งความไพเราะของบทกลอน และการดำเนินเรื่องที่ซาบซึ้งกินใจ  โดยที่สุนทรภู่ได้บรรยายระยะเวลา ๓ ปี แห่งความลำบากของท่านขณะที่ท่านอุปสมบทอยู่  ซึ่งท่านลำบากมากจนแทบเอาชีวิตไม่รอด  โดยท่านรำพันไว้ว่า

          จะสึกหาลาพระอธิษฐาน      โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
    พอพวกพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ      เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น
    อยู่มาพระสิงหะไตรภพโลก          เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
    ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น      พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งพัก
    ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์        ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก
    ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดังอำมฤค         แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบายฯ

          เมื่อพระสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง  ปีพ.ศ.๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล มาลากุล) และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสองค์กลาง และองค์น้อย ซึ่งมีพระชันษาได้ ๑๑ ปี และ ๘ ปีตามลำดับให้เป็นศิษย์ของสุนทรภู่  โดยที่สุนทรภู่ได้สั่งสอนจนพระโอรสทั้ง ๒ ทรงอ่านออกเขียนได้ และนอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้แต่ง เพลงยาวถวายโอวาท ซึ่งเป็นผลงานประเภทกลอนสุภาษิตเพื่อถวายแด่พระโอรสทั้ง ๒ อีกด้วย การมีศิษย์ชั้นเจ้าฟ้าเช่นนี้จึงทำให้พระสุนทรภู่อยู่สุขสบายขึ้น  พระสุนทรภู่อยู่วัดอรุณราชวรารามราว ๒ ปี  จึงข้ามฟากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

          เล่ากันถึงสาเหตุที่พระสุนทรภู่ย้ายวัดมาก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชักชวนให้มาอยู่ด้วยกัน  สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์หนึ่ง เพราะพระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญในการแต่งโคลงกลอน ลิลิต และฉันท์  พระนิพนธ์ของพระองค์นั้นมีมาก ที่สำคัญและมีชื่อเสียงเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย, กฤษณาสอนน้อง(คำฉันท์), สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนท้าย) เป็นต้น และเนื่องจากสมเด็จฯ ทรงคุ้นเคยกับสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นกวีด้วยกัน โดยเฉพาะสมัยที่สุนทรภู่เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ ทำให้สุนทรภู่ได้ย้ายที่จำพรรษามาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามทันที หลังจากบวชได้ประมาณ ๗ - ๘ พรรษา  ซึ่งในขณะนั้น พระสุนทรภู่มีอายุได้ ๔๕ ปี

          แต่เมื่อบวชเรียนอยู่ไปได้ไม่นานนัก ชีพจรลงเท้าสุนทรภู่อีกครั้งเมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ และยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะไปค้นหาถึงที่ซึ่งการค้นหายาอายุวัฒนะของท่านในครั้งนี้  ทำให้เกิดนิราศวัดเจ้าฟ้า ขึ้นมา โดยที่นิราศวัดเจ้าฟ้าได้บรรยายเรื่องเล่าการไปขุดค้นหายาอายุวัฒนะของท่านที่กรุงเก่า(จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) อีกด้วย

          ต่อมาไม่นานนัก  สุนทรภู่ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์  หลังจากที่ได้รับการเชิญชวนจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเคยผนวชที่วัดพระเชตุพนฯ วัดเดียวกันกับสุนทรภู่  แล้วทรงรู้จัก และคุ้นเคยสุนทรภู่เป็นอย่างดี เพราะทรงโปรดสักวาเป็นอย่างมาก  และเมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงลาผนวชแล้ว  ก็ทรงไปประทับที่วังท่าพระ (ปัจจุบันคือบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร) และก็ยังทรงชักชวนพระสุนทรภู่ให้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์อีกด้วย  เพื่อให้พระองค์สะดวกในการอุปถัมภ์พระสุนทรภู่  โดยระหว่างที่พระสุนทรภู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุฯ นี้

          สุนทรภู่ได้แต่งกลอน เฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  กับ นิราศอิเหนา ตอนบุษบาถูกลมหอบ  ถวายแด่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทั้งสองเรื่อง ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๗๖ สุนทรภู่ได้เดินทางไปนมัสการ พระแท่นดงรัง (ปัจจุบันอยู่ในต.ท่าเรือ อ.ท่าม่วง) ที่จังหวัดกาญจนบุรี  โดยไปพร้อมกับสามเณรกลั่นลูกเลี้ยง โดยที่สามเณรกลั่นนั้นได้แต่ง นิราศพระแท่นดงรัง ขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้มีบทกลอนตอนหนึ่งซึ่งได้บอกถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อพระสุนทรภู่ว่า

          พระคุณใดไม่เท่าคุณพระสุนทร      เหมือนบิดรโดยจริงทุกสิ่งอันฯ

          ปรากฏว่าหลังจากที่สุนทรภู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์มาได้ ๓ ปี  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็ทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อปีพ.ศ.๒๓๗๘ ทำให้สุนทรภู่ต้องกลับมาลำบากอีกครั้งหนึ่ง ครานั้น พระสุนทรภู่ได้ตัดสินใจย้ายที่จำพรรษาจากกวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มายังวัดสระเกศ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับมารดาของท่าน (คือ แม่ช้อย) ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ และได้เก็บศพไว้ตั้งบำเพ็ญกุศล โดยยังมิได้ฌาปนกิจ

          ครั้นถึงปีพ.ศ. ๒๓๗๙ ท่านตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองสุพรรณบุรี (จ.สุพรรณบุรี) หลังจากที่ได้ทราบข่าวลือว่ามีการค้นพบแร่ชนิดหนึ่งที่จะแปรสภาพให้เป็นทองคำได้  ซึ่งการเดินทางในครั้งนั้นนับเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าการเดินทางครั้งที่ผ่านๆมาของท่านสุนทรภู่ เพราะการเดินทางครั้งนั้น ท่านเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากฝูงโขลงช้างที่คอยปกป้องรักษา พระเจดีย์ที่สุนทรภู่คาดว่าเป็นที่ซ่อนแร่ดังกล่าว ซึ่งพระเจดีย์นั้นตั้งอยู่ในป่าลึกบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี รอยต่อชายแดนไทย-พม่า  ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ท่านสุนทรภู่ได้แต่งนิราศอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง นิราศสุพรรณ ซึ่งเป็นนิราศเพียงเรื่องเดียวในชีวิตของสุนทรภู่ ที่ได้แต่งเป็นโคลง เพราะตามปกตินิราศของท่านจะแต่งโดยใช้กลอนเพลงยาว (ภายหลัง เรารู้จักกันในชื่อ กลอนสุภาพ หรือ กลอนแปด) แต่ว่าจริงๆแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุที่ สุนทรภู่ใช้โคลงในการแต่งนิราศสุพรรณว่า

          เมื่อครั้นสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามนั้น อาจเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่ถูกสบประมาทว่าแต่งเป็นแต่กลอนเพลงยาว (กลอนสุภาพ หรือกลอนแปด) สุนทรภู่จึงได้ตัดสินใจแต่งนิราศสุพรรณให้เป็นโคลง และแต่งเรื่อง พระไชยสุริยา ซึ่งกำลังแต่งด้วยขณะที่ท่านสุนทรภู่จำพรรษาให้เป็นกาพย์ไปด้วย เพื่อพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่าสามารถแต่งโคลง และกาพย์ได้เป็นเช่นกัน ไม่ใช่แค่กลอนเพลงยาวเพียงอย่างเดียว

          หลังจากที่พระสุนทรภู่ได้เดินทางกลับมาจากเมืองสุพรรณบุรี  ท่านก็ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ จนกระทั่งปีพ.ศ.๒๓๘๓  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าพี่นางเธอของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ทรงมีพระเมตตา และได้อุปถัมภ์พระสุนทรภู่โดยให้ย้ายที่จำพรรษาจากวัดสระเกศมาเป็นวัดเทพธิดาราม ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓  โดยที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างวัดนี้ และทรงเดินทางไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเทพธิดารามนี้เป็นประจำ     แต่เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระชนมายุที่สั้น  ทำให้ในปีพ.ศ.๒๓๘๘ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเสด็จสิ้นพระชนม์  อันเป็นการสร้างความโทมนัสให้กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดายิ่งนัก

          ในระหว่างที่ได้รับการอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  พระสุนทรภู่มีจิตใจที่สงบและปลอดโปร่งมากที่สุด  ฉะนั้นเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงพอพระทัยในนิทาน พระอภัยมณีที่สุนทรภู่ได้แต่งค้างไว้ยังไม่จบ ทำให้สุนทรภู่ต้องนำมาแต่งต่อ และขึ้นถวายเดือนละ ๑ เล่มสมุดไทย

          นอกจากนี้แล้ว สุนทรภู่ยังเขียน กาพย์พระไชยสุริยา เป็นเรื่องราวสำหรับสอนศีลธรรมซึ่งสะท้อนสังคมในยุคสมัยนั้น  พระสุนทรภู่แต่งออกเป็น ๓ ชนิด สำหรับสอนอ่าน ผัน และสะกด  นอกจากนี้เหล่านิทานคำกลอนเรื่องต่างๆที่พระสุนทรภู่แต่งค้างคาไว้เมื่อครั้นรัชกาลที่ ๒ ก็นำออกมาแต่งต่อ ได้แก่เรื่อง สิงหไตรภพ ลักษณวงศ์ เป็นต้น

          แต่แล้วหลังจากที่สุนทรภู่จำพรรษาได้ไปประมาณ ๓ พรรษา  คืนวันหนึ่งหลังจากที่ท่านสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ท่านจำวัดในกุฎิแล้วฝันไปว่า  ตัวท่านนั้นกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลใกล้จะหมดแรงแล้ว  แต่ทันใดนั้นก็มีมือหนึ่งยื่นออกมาฉุดท่านไว้มิให้จมน้ำ ปรากฏว่าเป็นหญิงสาว แล้วพาท่านมาที่วัด  ในฝันท่านเห็นพระศิลาขาวผ่องดั่งสำลี (คาดว่าเป็นหลวงพ่อขาว พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม) และพระทอง ๒ องค์ล้วนทรงเครื่อง (พระพุทธรูปทรงเครื่องในพระอุโบสถ ที่ประดิษฐานอยู่ ๒ ข้างองค์หลวงพ่อขาว)  โดยที่ในความฝันนั้น ท่านอยู่ในหมู่เทพธิดานางฟ้าที่เข้ามารายล้อมตัวท่าน และต่างชวนท่านไปอยู่บนสวรรค์ แถมบอกท่านอีกว่าชะตาขาดจะต้องตายในปีนี้

          หลังจากพระสุนทรภู่ตื่นจากความฝัน ท่านก็ตกใจมาก รีบจดวัน เดือน ปีที่ท่านฝันทันที ซึ่งตรงกับวันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ.๒๓๘๕ หลังจากนั้นท่านจึงแต่งรำพันพิลาป ขึ้น เพื่อเป็นการอำลาชีวิตสมณเพศของท่าน ซึ่งอยู่มานานถึง ๑๘ ปี โดยในรำพันพิลาปได้มีบทกลอนระบุเหตุด้วยดังนี้

          โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด      เคยโสมนัสในอารามสามวสา
    สิ้นกุศลผลบุญกรุณา                จะจำลาเลยลับไปนับนาน

          และหลังพรรษาในปีนั้นนี่เอง  พระสุนทรภู่ก็ตัดสินใจลาสิกขาบท ออกมาใช้ชีวิตทางโลกอีกครั้งหลังจากครองสมณเพศนานถึง ๑๘ ปี ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้ ๕๖ ปี  แต่ว่าฝันนั้นดูแล้วไม่น่าจะเป็นลางร้าย  กลับเป็นเหมือนลางบอกเหตุว่าสุนทรภู่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก่อนจะถึงวันสุดท้ายของชีวิตต่างหาก



สุนทรภู่ยังอยู่ในวัยเด็ก และกำลังเล่าเรียนอยู่ที่สำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน)


สุนทรภู่มีปากเสียงกับแม่จัน จนกระทั่งสุดท้าย แม่จันก็ได้ขอหย่าร้างสุนทรภู่

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]
บั้นปลายชีวิตสุนทรภู่
บั้นปลายชีวิต (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘): อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี

          สุนทรภู่ ในช่วงบั้นปลายชีวิต ก็เริ่มมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ไปอยู่พระราชวังเดิม ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ในขณะนั้นด้วย (พระราชวังเดิม คือพระราชวังที่เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันเป็นที่ทำการกองทัพเรือ)  ซึ่งทำให้ชีวิตของสุนทรภู่เริ่มมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ด้วยนิสัยนักเดินทาง เมื่ออาศัยอยู่ในพระราชวังเดิมนานประมาณ ๔ เดือน ก็เดินทางไปยังเมืองนครชัยศรี (ปัจจุบันคืออ.นครชัยศรี จ.นครปฐม)  เพื่อไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ก่อนที่จะได้แต่งนิราศพระประธม ซึ่งเป็นนิราศเรื่องที่ ๘ ของท่าน บรรยายถึงการเดินทางไปในครั้งนั้น

          แต่ว่าในปีพ.ศ.๒๓๘๘ หลังจากได้พึ่งพระบารมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ประมาณ ๒-๓ ปี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงเสด็จสิ้นพระชนม์ ซึ่งนั่นถือเป็นการสูญเสียผู้ที่อุปการะเมตตาสุนทรภู่อีกพระองค์หนึ่ง เพราะท่านได้อุปการะสุนทรภู่ให้มีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้สุนทรภู่ได้สานต่อผลงานของตนเองที่คั่งค้างไว้ให้สำเร็จบริบูรณ์ เป็นที่ประจักษ์สายตาแก่อนุชนรุ่นหลังของไทย  ปรากฏว่าเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงโปรดให้สุนทรภู่ไปทำธุระส่วนพระองค์ที่เมืองเพชรบุรี ในปีพ.ศ.๒๓๙๒  ภายหลังจากที่เคยไปอยู่พึ่งบารมีของหม่อมบุนนาค (ชายาของกรมพระราชวังหลัง) ทำนาที่เมืองเพชรมาแล้ว  ซึ่งจากการเดินทางไปเมืองเพชรบุรีครั้งนี้  สุนทรภู่ก็ได้แต่งนิราศเรื่องที่ ๙ ของท่าน ซึ่งถือเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตนั่นคือ นิราศเมืองเพชร

          เมื่อวันพุธขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทรงมีพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา  และทรงอยู่ในราชสมบัติประมาณ ๒๗ ปี  ทำให้เหล่าเจ้าฟ้าข้าราชบริพารตัดสินใจเลือก สมเด็จเจ้าฟ้าชายมงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลานานถึง ๒๗ ปี (ตลอดรัชกาลที่ ๓) ให้ทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  และทันทีทันใดที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชสมบัติ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยทรงโปรดให้ประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

          เป็นเวลานานถึง ๙ ปีที่สุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังเดิม  นับตั้งแต่ลาสิกขาบทเมื่อพ.ศ.๒๓๘๕ และตามเสด็จมา อยู่ที่วังหน้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้แต่งตั้งสุนทรภู่เป็น เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ในปีพ.ศ.๒๓๙๔  ขณะมีอายุได้ ๖๕ ปี  โดยระหว่างที่รับราชการ

          ณ พระราชวังบวรสถานมงคลนั้น พระสุนทรโวหารได้แต่งบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวายแด่พระองค์เจ้าหญิงดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และแต่งบทกลอนถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายเรื่อง  เช่นบทเห่กล่อมทั้งหมด ๔ เรื่อง ซึ่งใช้กล่อมเจ้านายขณะที่ทรงพระเยาว์ให้ทรงหลับ โดยที่บทเห่กล่อมทั้ง ๔ เรื่องนี้ ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั้งพระบรมมหาราชวังตลอดสมัยรัชกาลที่ ๔  นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งเสภาพระราชพงศาวดาร อีกเรื่องหนึ่งด้วย

          พระสุนทรภู่โวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลได้รับราชการไปได้ ๔ ปี  ก่อนที่ท่านจินตกวีเอกของไทย และของโลกผู้นี้จะถึงแก่อนิจกรรมอย่างเป็นสุข เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘  สิริอายุได้ ๖๙ ปี  ผู้ที่สืบเชื้อสายจากสุนทรภู่นั้นใช้นามสกุลว่า ภู่เรือหงษ์

          หลังจากท่านสุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมได้ ๑๓๑ ปี  ท่านได้รับเกียรติจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งคือเป็นกวีเอกของโลก  เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านนับเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติเป็น คนที่ ๕  และเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรติถึงขั้นเป็นกวีเอกของโลก



ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 8.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ “พ่อพัด” ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง “นิราศพระบาท” พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก “นิราศพระบาท” ก็ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ

          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขา คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"

          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ผลงานของสุนทรภู่

          หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ…

ประเภทนิราศ

          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา

          - นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) –เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน

          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ



พระอภัยมณี


สุดสาคร

ประเภทสุภาษิต

          - สวัสดิรักษา- คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง - เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท - คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร

          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา

          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม

          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี


ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่

          ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของ สุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น

 บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ



ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา


 บางตอนจาก นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ

 บางตอนจาก พระอภัยมณี

บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)




แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)



อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา



เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล



ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง

แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")

 บางตอนจาก เพลงยาวถวายโอวาท

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย



อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ


 บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน



จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ



เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ



รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขนขวาย
มีข้าไทใช้สอย ค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง



 บางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย



ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

(ขุนแผนสอนพลายงาม)

 บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ

 บางตอนจาก นิราศพระบาท

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง

ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล...


ที่มาของวันสุนทรภู่

          องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

          ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป

          ทั้งนี้ ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง

ประวัติสุนทรภู่ กลอนสุนทรภู่

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่

          1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
          2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่
          3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่


ประวัติสุนทรภู่ วันสุนทรภู่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นของบล็อกประเพณีไทย จะมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น
ควรใช้คำพูดที่สุภาพและเหมาะสม ก่อนที่จะทำการแสดงความคิดเห็นของท่านสู่ที่สาธารณะ งดคำหลาบ คำว่าร้ายทุกกรณี หรืออื่นๆที่ทีมงานเห็นว่าไม่ดีไม่งาม
ขอลบทันทีโดยไม่บอกกล่าวหรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ขอบคุณครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น