แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แนะนำประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ แนะนำประเพณีไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีทั่วไทย ประเพณีไทย 4 ภาค ฉบับย่อ


ประเพณีไทยภาคเหนือ
 ประเพณีไทยภาคเหนือ
ประเพณีสลากภัตร
พุทธศาสนิกชนทาง
ภาคเหนือเรียกประเพณีสลากภัตรว่า “ทานสลาก” หรือ “กินสลาก” หรือ “ทางก๋วยสลาก” โดยเฉพาะคำว่า “ก๋วย” แปลว่า “ตะกร้า” หรือ “ชะลอม” พิธีดังกล่าวนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน 10 แรม 15 ค่ำ เป็นต้นไปจนถึงวันเดือน 11 แรม 8 ค่ำ โดยจัดให้มีขึ้นทุก ๆ วันผลัดเปลี่ยนกันไป
ครั้นในเมื่อวัดจะมีการถวายสลากภัตรกันขึ้นเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ ก็จะนิมนต์พร้อมกับเชิญชวนไปยังเจ้าอาวาสวัดอื่น ๆ ตลอดทั้งยังได้แจ้งไปให้คณะศรัทธาชาวบ้านให้มาร่วมในงานด้วย เมื่อถึงวันถวาย ก็จะได้เตรียมเครื่องไทยทานไว้ให้พร้อม เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียบ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ข้าวสาร น้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น แล้วต่างก็นำมารวมกันไว้ในบริเวณวัดที่ได้จัดให้มีการถวายสลากภัตร เฉพาะเครื่องไทยทานได้บรรจุลงในรูปสัตว์ต่าง ๆ โดยใช้ไม้จักสาร เช่น ทำเป็นรูปช้าง ม้า วัว ควาย และเสือ เป็นต้น จากนั้นก็ได้นำใบลานหรือใบตาลมาเขียนคำมุทิตา เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เฉพาะใบลานหรือใบตาลที่กล่าวมานี้ ชาวพื้นเมืองพากันเรียกว่า “เส้นสลาก” ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็มีการผสมรวมเส้นสลากที่มีผู้นำไป แล้วนับจำนวนสลากกับแบ่งสลากให้เท่ากันกับจำนวนพระภิกษุและสามเณร ต่อจากนั้นผู้ทีไปทำบุญในวันนั้น ก็จะพากันออกไปเที่ยวค้นหาเส้นสลากของตนต่อไป เมื่อหาสลากพบแล้วก็จะขอร้องให้พระภิกษุ และสามเณรอ่านข้อความในใบลานนั้นในฟัง ถ้าเป็นสลากของตนก็จะถวายเครื่องไทยทานที่เตรียมมานั้นให้ท่านไป ท่านก็จะสวดมนต์ให้ศีลให้พร

อนึ่ง เฉพาะสลากใหญ่ เรียกว่า “สลากหลวง” ชาวบ้านนิยมและพากันเรียกว่า “สลากโชค” มักจะ ตั้งอยู่กับที่เพราะใหญ่โตมีของมากมาย ประเพณีการทานสลากเป็นประเพณีใหญ่ ที่ต้องใช้เงินและเวลามาในการแต่ง อนึ่งมีบางเมืองในภาคเหนือเช่น ที่อำเภอเมืองลำพูน มีประเพณี “การทานสลากย้อม” ตั้งรวมพิธีอยู่ในประเพณีสลากภัตรด้วย ประเพณีการทานสลากย้อมนี้ นิยมถือกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวโดยเฉพาะ นั่นคือ เมื่อหญิงคนใดมีอายุแตกเนื้อสาวที่สามารถพอจะทำงานหาเงินรวมได้แล้ว พ่อแม่ก็จะแนะนำให้ทราบถึงหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึง ปฏิบัติเป็นเบื้องแรก คือการให้รู้จักเก็บหอมรอมริบด้วยการหาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงรักษาไว้เพื่อทานสลากย้อม หญิงนั้นก็ยังไม่ควรจะแต่งงาน ถ้ามีพิธีทานสลากย้อมแล้ว ถือว่าถ้าแต่งงานไปจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ โดยหญิงสาวนั้นเริ่มจะมัธยัสถ์เพื่อเตรียมเก็บเงินไว้จนกระทั่งสามารถรวมหาเงินซื้อสร้างคอทองคำ เข็มขัดเงินและเครื่องเรือนจนครบทุกชนิด นอกจากนั้นก็จะมีผลไม้ต่าง ๆ กล้วยก็ใส่ทั้งเครือ มะพร้าวก็ใส่ทั้งทะลาย พร้อมทั้งขนมต่าง ๆ อีกมากมาย เฉพาะ “ต้นสลากย้อม” นั้น นิยมทำสูงประมาณ 5-6 วา แล้วก็จะปักร่มไว้ที่ปลายยอดและตามเชิงชายของร่ม จะห้อยย้อยไปด้วยสร้อยคอและเข็มขัด ตลับเงินและเหรียญเงินประดับประดาอย่างสวยงาม โดยเฉพาะลำดับของสลากย้อมใช้ฟางมัดล้อมรอบ เพื่อง่ายแก่การปักไม้สำหรับแขวนผลไม้และสิ่งของต่าง ๆ ตามแต่เจ้าภาพจะปรารถนา อนึ่งการแต่งสลากย้อมนั้นช่วยกันทำกันร่วมเดือน กระดาษสีที่นำไปแปะติดและประดิษฐ์ก็นับจำนวนหลายร้อยแผ่น กับทั้งต้นสลากย้อมก็จะต้องมีประวัติของเจ้าของสลากย้อมด้วย การเขียนประวัติของเจ้าของสลากย้อมนี้ ต้องไปจ้างคนผู้เชี่ยวชาญในการแต่งกลอน พื้นเมือง ให้แต่งซึ่งเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “ครรโลง” หรือ “ค่าว” ผู้แต่งจะบรรยายประวัติของเจ้าของสลากย้อม ด้วยสำนวนลีลาอันไพเราะ นับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง ในบทครรโลงหรือคำค่าวนี้ ผู้แต่งจะสอดแทรกคติธรรม ตลกขบขันเพื่อให้เกิด รสนิยมแก่เจ้าของสลากย้อมและผู้ฟัง ส่วนท้ายก็จะเป็นคำแผ่นาบุญและอธิฐานที่เจ้าของสลากย้อมตั้งใจไว้ ตอนจบก็ลงด้วยครรโลงธรรมเป็นคติสอนใจ การอ่านครรโลงหรือค่าวขนสลากย้อม นิยมอ่านกันตั้งแต่ 2-3 คน ขึ้นไป ต้องหาคนที่มีเสียงดีไพเราะอ่านแล้วถึงจะน่าฟังมาก ถ้าครรโลงของใครแต่งดี ก็จะมีคนมาอ่านไม่ขาด เป็นที่ เชิดหน้าชูตาแก่ผู้เป็นเจ้าของสลากย้อมยิ่งนัก เมื่อแต่งดาสลากย้อมเสร็จแล้ว ก็จะถึงวันทานสลากภัตร เขาจะช่วยกันหามออกจากบ้านไปสู่วัดที่มีการทานสลากภัตร คือใช้คนหามอย่างน้อย 12 คน การถวายทานสลากย้อมก็จะเหมือนกันกับการถวายสลากภัตรนั่นเองเมื่อสลากย้อมจะได้แก่พระภิกษุรูปใด พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ก็จะต้องหาคนมาอ่านครรโลงของเขาให้จบก่อน แล้วจึงจะทำพิธีถวายต้นสลากย้อมแก่ท่าน และพร้อมกับรับศีลรับพรจากท่านก็เป็นอันเสร็จพิธี


ประเพณีไทย ภาคใต้
ประเพณีไทย ภาคใต้

ประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระในภาคใต้ พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณการ คือ “พิธีชักพระบก” และ “พิธีชักพระทางน้ำ” ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 วันออกพรรษา เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ก่อนทำพิธีชักพระ 1 วัน ชาวบ้านจะเตรียมทำอาหารเพื่อนำไปใส่บาตร ซึ่งมีภาษาของ ชาวบ้าน เรียกว่า “พิธีใส่บาตรหน้าล้อ” ครั้งรุ่งขึ้นเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านก็จะนำ ข้าวปลาอาหารไปใส่บาตร โดยมีบาตรมาตั้งเรียงรายเป็นแถว ที่ทำพิธีฉลองพระลากของวัดนั้น ๆ ของทำบุญใส่บาตรก็มี “ปัด” คือข้าวเหนียวใส่กะทิ แล้วห่อด้วยยอดใบมะพร้าว แล้วนึ่งให้สุก หรือคือเป็นข้าวต้มมัดนั่นเอง เพื่อไปทำบุญ อนึ่ง ในจังหวัดปัตตานีได้มีประเพณีทำข้าวต้ม ห่อใบกะพ้อ โดยการเอาข้าวเหนียวซึ่งหุงด้วยน้ำกะทิ แล้วนำมาห่อด้วยใบกะพ้ออ่อน ๆ การห่อ เขาห่อกันเป็นสามมุมแล้วเอาใส่หม้อต้มอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งสุกดีแล้ว จึงเตรียมใส่บาตรทำบุญ ต่อไป
พิธีชักพระบก ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัดบางวัดที่ทำพิธีชักพระทางบก โดยมี พระพุทธรูปยืน ซึ่งหล่อด้วยเงินทั้งองค์เป็นประธานในพิธีชัก เมื่อจวนกำหนดวันลากพระ ทางวัด ก็ต้องตระเตรียมเครื่องประโคมต่าง ๆ เช่น ตะโพน กลอง และฆ้อง เป็นต้น
การชักพระบก จะต้องจัดทำบุญบกที่เรียกกันว่า “ร้านม้า” บนไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 2 ท่อน และไม้ 2 ท่อนนี้เปรียบเสมือนตัวพญานาค แล้วก็มีหัวนาค 2 หัวอยู่ข้างหน้า ส่วนข้างหลัง ก็ทำเป็นหางนาค โดยเฉพาะบนตัวพญานาคปลูกเป็นร้านขึ้น ให้สูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง เพื่อเป็นร้านรับบุษบก สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วประดับประดาด้วยธงสามเหลี่ยม ด้านละ 3 คัน รอบนอกกั้นด้วยผ้าผืนยาวประมาณ 2-3 เมตร เพื่อให้สวยงาม
สำหรับบุษบกนี้ เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “พนมพระ” รอบ ๆ ร้านที่ยกพื้นนี้มีฝาสาน ด้วยไม้ไผ่ มีลวดลายระบายสีตามลักษณะของการยกดอก ซึ่งปิดทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า ฝาผนัง
บนพื้นร้านมานี้ นอกจากจะรับบุษบกแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่วางกลองสำหรับประโคมพร้อมด้วยระฆัง ได้นิมนต์พระภิกษุขึ้นประจำบนบุษบกด้วย ขณะที่ชักพระตัวพญานาค 2 ข้างด้านหน้า ต้องใช้เชือกขนาดใหญ่ ซึ่งวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตรขึ้นไป เพื่อใช้ในการชักพระข้างละเส้น
การที่ใช้เชือกผูกไว้ เป็นที่สำหรับชักพระไปตามสถานที่ ๆ กำหนดไว้ ซึ่งตามปกติ ก็ไม่ห่างไกลเกินควรนัก ในพิธีชักพระนี้ จะมีพุทธศาสนิกชนทุกวัยและทุกรุ่นไปร่วมพิธีกันมาก ทั้งนี้ หวังที่จะได้บุญได้กุศลและสนุกสนานอีกด้วย อนึ่ง ในขณะที่ผู้คนกำลังลากพระอยู่นี้ ก็จะ ตีกลองเร่งจังหวัดในลากเร็วยิ่งขึ้น บางแห่งที่จุดนัดพบของการลากพระไปรวมกันถึง 4-5 วัดก็มี หรือมากกว่านั้น โดยในบางปีก็ได้จัดให้มีการประกวดพนมพระอีกด้วยว่า วัดใดจะได้รับรางวัลชนะเลิศไป เมื่อทำบุญประเพณีในตามที่ที่ชุมนุมพระทางบกของพุทธศาสนิกชน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทำพิธีชักพระกลับวัดก็เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีชักพระทางเรือ โดยมากมักจะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ เช่น ในจังหวัดปัตตานี มีวัดตะเคียนทอง วัดบูรพาราม วัดมัชฌิมาวาส วัดนิยาราม และวัดท่านาว เป็นต้น
ในเรือพระ จะมีพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะเรือพระได้ตกแต่งกันไว้ อย่างสวยงามมาก นอกนั้นก็มีเรือของชาวบ้านมาสมทบเข้ากับขบวนแห่ และช่วยกันลากจูงเรือพระแห่ไปสมโภช ที่ย่านกลางชุมนุมชนตามริมฝั่งแม่น้ำ
พิธีการของชักพระก็โดยการใช้เรือลำใหญ่ ๆ เพื่อขนานกันได้ 2-3 ลำ แล้วผูกไม้คาน ให้ติดกันอย่างแข็งแรง เอากระดานปูเป็นพื้นเพื่อตั้งบุษบกหรือพนมพระ ลงบนพื้นนั้น แล้วประดับประดาด้วยธงทิว ประโคมเสียงฆ้อง กลอง ให้อึกกะทึกตลอดเวลา แล้วลากจูงไปตามลำแม่น้ำ เพื่อไปยัง ณ ที่จุดรวมพิธีสมโภช
โดยเฉพาะประเพณีชักพระทางเรือนั้น นับว่าสนุกสนานมากกว่าประเพณีชักพระทางบกมาก ในท้องที่ของอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จุดรวมของพระที่ชักมาก็คือ “หลักหลวงพ่อทุ่งคา” ซึ่งถือว่าเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของเมืองปัตตานีแห่งหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นสถานที่บำบัดโรคและให้โชคลาภแก่ผู้ที่มาทำบุญอีกด้วย
เรือพระที่ทางวัดได้ตกแต่งกันอย่างสวยงามจากหลายวัด ก็จะได้มาชุมนุมกันที่นี่ กับทั้งจะมีเรือของหญิงและของชายอีกหลายลำที่ร่วมขบวนแห่พระ มารวมกันที่ต้นไทรใหญ่ ของลำน้ำยามู เมื่อเรือทุกวัดมาพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็จะทำพิธีใส่บาตรเลี้ยงพระเป็นงานบุญใหญ่ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็จะมีการสาดน้ำซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย มีการรื่นเริงด้วยการละเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ จนพลบค่ำจึงชักเรือพระกลับวัด
อนึ่ง มีการละเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และสามัคคีกันอย่างดียิ่ง กล่าวคือ มีประเพณีการแย่งเรือพระกัน โดยมีชาวหมู่บ้านหนึ่งเตรียมไว้เพื่อ เข้าไปแย่งชิงเรือพระอีกหมู่บ้านหนึ่ง ฝ่ายเจ้าของก็จะเข้าแย่งเรือพระชักกลับ โดยชักกันไปแล้วชักกันมา ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่าก็ชักพระลากไปไว้ที่หน้าวัดของตนเพื่อเรียกร้องเอาค่าไถ่หรือรางวัล หากไม่ได้ค่าไถ่หรือรางวัลก็จะไม่ชักลากเรือพระกลับ


ประเพณีไทยภาคอีสาน
ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีผูกเสี่ยว    
ประเพณี"ผูกเสี่ยว"ก็คือ"พิธีบายศรีสู่ขวัญ"นั่นเองเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอิสานคําว่า"ผูกเสี่ยว"หมายถึง"ผูกมิตรภาพ"นั่นเองเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้เลื่อนตําแหน่งในวงราชการและเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนซึ่งในอิสานนั้นเมื่อมีการจัดงานอะไรก็ตาม
มักจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญหรือพิธีผูกเสี่ยวควบคู่กันไปเป็นการรับขวัญเรียกขวัญของผู้ที่จากบ้านไปไกลด้วยเวลาอันยาวนานหรือผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ ให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัวพร้อมกับทําพิธีอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขให้มีอายุมั่นขวัญยืนพร้อมกันไป

ประเพณีภาคกลาง
ประเพณีภาคกลาง

ประเพณีสู่ขวัญข้าว
ประเพณีสู่ขวัญข้าว (ทั่วไป) บุญสู่ขวัญข้าว (หมู่บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด) เรียกขวัญข้าว (หมู่บ้านท่าด่าน) กระทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓
ความสำคัญ :เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง บูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป
พิธีกรรม :โดยทั่วไปชาวนาต่างก็ทำพิธีโดยให้เจ้าของนาฝ่ายหญิงนุ่งขาว ห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีตอนเช้าตรู่โดยเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ข้าวต้มเผือก มัน ไข่ ขันธ์ ๕ ขวดน้ำ แก้วแหวนเงินทอง แป้ง หวี กระจก ผ้าสไบ (อาจมีเพิ่มเติมหรือแตกต่างตามท้องถิ่น) นำสิ่งของเหล่านี้ห่อด้วยผ้าขาว ใส่กระบุงหรือบางท้องที่ปิดกระบุงด้วยผ้าขาว นำขอฉายคอนกระบุง(บางหมู่บ้านใช้ผ้าสี ผูกให้สวยงาม) เดินไปตามท้องนา เจตนาของตน ร้องเรียกแม่โพสพ ใจความคือเชิญแม่โพสพที่ตกหล่นอยู่ให้มาอยู่ในยุ้ง ฉาง บางหมู่บ้าน เพื่อนบ้านขานรับจนถึงบ้าน นำกระบุงไปไว้ในยุ้งข้าว บางหมู่บ้านมีพราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญเข้ายุ้ง โดยมีการตั้งบายศรี และเครื่องไหว้ในยุ้ง การสู่ขวัญด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันประเพณีสู่ขวัญข้าวยังคงกระทำอยู่ในหมู่บ้านทั้งสี่อำเภอ เช่น หมู่บ้านหนองโพธิ์ ตำบลศรีนาวา สู่ขวัญข้าวร่วมกันและทำบุญเลี้ยงพระด้วย
สาระ :เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและความเชื่อของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น


ประเพณีกำฟ้าเป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนในจังหวัดสิงห์บุรี
ซึ่งถือว่าเป็นการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือเทวดาผู้รักษาท้องฟ้า ทั้งนี้เพราะชาวบ้านมีความเชื่อ
สืบต่อกันมาว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากทวยเทพ
ผู้รักษาท้องฟ้าแล้ว เทพยดาอารักษ์ก็จะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

"วันกำฟ้า" ของพวกไทยพวนในหมู่บ้านต่างๆ จะถูกจัดขึ้นไม่ตรงกัน  แล้วแต่
ท้องที่ แต่จะถือกันว่าให้จัดขึ้นภายใน 3 เดือน คือเดือนอ้ายขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ขึ้น 13 ค่ำ และ
เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ สำหรับในจังหวัดสิงห์บุรีจะถือเอาวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปีเป็นวัน
กำฟ้า
ในวันแรกของงานคือวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 หรือที่เรียกว่า "วันสุกดิบ" นี้ชาวบ้าน
จะช่วยกันทำ "ข้าวปุ้น"หรือ "ขนมจีน" กับทั้งน้ำยาหรือน้ำพริกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อนำไปทำ
บุญถวายพระที่วัดส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งแต่ต่อมาจะแจกจ่ายให้ตามบ้านญาติพี่น้อง  เพื่อเป็น
การแสดงความเอื้ออารีต่อกัน และถือเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่งน้อยกว่าได้มีการ    เปลี่ยนจาก
ข้าวปุ้นมาเป็นการเผา "ข้าวหลาม" แทน หรือที่เรียกกันว่า"ข้าวหลามทิพย์" แทนเพราะลงทุน
และเก็บได้หลายวันบางคนจึงเรียกงานบุญกำฟ้าว่า "งานบุญข้าวหลาม" ก็มี
พิธีทางสงฆ์ในวันกำฟ้านี้  จะมีพระสงฆ์จำนวน 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น
จากนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เรียกกันว่า "อาจารย์" จะแต่งชุดสีขาว ก็จะทำพิธีสวดเบิกบายศรี
บูชาเทวดาพร้อมกับอัญเชิญเทวดาทั่วสารทิศมารับเครื่องสังเวยและดูพิธีกรรม มีการรำขอพร
โดยหญิงสาวภายในหมู่บ้าน เสร็จจากการรำถวายแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับชาวบ้านเมื่อเสร็จจากทำบุญในตอนเช้าแล้ว ตอนบ่ายก็จะร่วมพิธีกรรม
ร่วมกันส่วนในตอนเย็นชาวบ้านก็จะร่วมกันเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น ไม้หึ่ม มอญซ่อนผ้า ช่วงรำ
วิ่งวัว(ใช้คนวิ่งเป็นคู่ๆ ผู้คว้าธงแดงได้ก่อนเป็นผู้ชนะ) ตีไก่ หรือการเล่นแตะหม่าเปย (คล้าย
สะบ้า) กันอย่างสนุกสนาน
และต่อจากนี้ไปอีก 5 วัน  ชาวบ้านก็จะจัดสำรับกับข้าวอาหารคาวหวานไปถวาย
พระภิกษุที่วัดอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสร็จจากการทำบุญแล้วก็จะนำเอาฟืนซึ่งกำลังลุกอยู่ในเตาไฟ
ดุ้นหนึ่งไปลอยในแม่น้ำลำคลอง ที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อเป็นการสักการะบูชาเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
บนท้องฟ้าเพื่อจะบันดาลให้ฝนตกลงมา  และในช่วง 7 วันนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะคอยฟังเสียงฟ้า
ร้องคำรามว่ามาจากทิศใด  ห่างหรือถี่ขนาดไหนแล้วก็จะทำนายทายทักไปตามทิศนั้นว่าปีนี้
ฝนจะตกมากหรือตกน้อย การทำนาจะได้ผลดีหรือได้ผลน้อย เป็นต้น

ประเพณีไทย

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประเพณีไทย บ้านเรา

ประเพณีไทย เราคนไทยภูมิใจในความเป็นไทย

ประเพณีไทย ลอยกระทง
ตัวอย่างประเพณีลอยกระทง
เป็นที่รู้กันดีว่า ประเพณีไทยเรามีหลากหลาย และทั้งยังเป็นหน้าเป็นตาให้กับเมืองไทยเรามานาน เราซึ้งเป็นคนไทย ควรอนุรักษ์ประเพณีของเราไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และทราบถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมไทยเราด้วย 
บล็อกนี้จะแสดงข้อมูลประเพณีไทย และยังเผยแพร่เกี่ยวกับประเพณีไทยไว้เพื่อเป็นความรู้ สาระแก่ผู้ที่สนใจและต้องการข้อมูลในส่วนนี้
อีกทั้งยังเป็น แหล่งเผยแพร่เกี่ยวกับประเพณีไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงประเพณีไทยทั้ง 4 ภาค เช่น ประเพณีภาคอีสาน ประเพณีภาคเหนือ ประเพณีภาคใต้ ประเพณีภาคกลาง และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง