คำตอบ คือ
น้ำนมคืออาหารที่ธรรมชาติเตรียมไว้สำหรับลูกของสัตว์เลี้ยงด้วยนม สัตว์แต่ละชนิดจะผลิตน้ำนมสำหรับลูกไปนานจนกว่าระบบของร่างกายลูกจะพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการย่อยอาหารชนิดอื่นที่ไม่ใช่นม ระบบภูมิคุ้มกันโรค ความสามารถในการหาอาหารได้ด้วยตัวเอง หรือความพร้อมในการพึ่งพาตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยแม่
ในอดีต ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นแม่ผู้ให้นมและดูแลลูกอยู่ที่บ้าน มาเป็นแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน และก่อนที่จะมีการใช้นมอื่นมาใช้เลี้ยงลูกคน ไม่เคยมีบันทึกไว้ว่าคนควรให้นมลูกนานเพียงใด จึงมีการศึกษาให้ได้คำตอบนี้โดยการสังเกตจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ พบว่า
สัตว์บางชนิดหยุดกินนมแม่ (natural weaning age) เมื่อน้ำหนักตัวเป็น 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด บางชนิดหยุดเมื่อน้ำหนักตัวถึงหนึ่งในสามของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ บางชนิดหยุดเมื่อเริ่มมีฟันแท้ซี่แรกขึ้น ส่วนในลิงซึ่งมีหลายพันธุ์ ตั้งแต่ลิงขนาดเล็ก มีอายุขัยสั้น เช่น ลิงแสมดำ ชะนี จนถึงลิงขนาดใหญ่ อายุขัยยาวขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น และมีลักษณะใกล้เคียงคนมากที่สุด เช่น กอริลล่าหรือชิมแปนซี พบว่าเหล่าลิงใหญ่ จะมีน้ำหนักของลูกเมื่อแรกเกิดเทียบกับน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่มากกว่าลิงขนาดเล็ก มีความฉลาดมากกว่า เพราะมีสมองขนาดใหญ่กว่าและน้ำหนักสมองมากกว่า มีระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่ยาวนานกว่า (ชะนีตั้งครรภ์นาน 30 สัปดาห์ ชิมแปนซีตั้งครรภ์นาน 33 สัปดาห์ คนตั้งครรภ์นาน 40 สัปดาห์) ลิงใหญ่จะให้นมลูกนานกว่าลิงขนาดเล็ก (คนเป็นลิงที่ใหญ่ที่สุด และ ฉลาดที่สุด)
ความเป็นจริงในธรรมชาติ เราพบว่า ลิงกอริลล่าและชิมแปนซี ซึ่งมีอายุขัย 30-40 ปี ให้นมลูกนาน 6 ปี ขณะที่คนมีอายุขัย 70 ปี เมื่ออาศัยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมหลายๆด้านประกอบกันแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าคนเราควรให้ลูกกินนมนานอย่างน้อยที่สุดคือ 2.5 ปี และกินได้นานถึง 7 ปี (เพราะว่า คนจะมีน้ำหนัก 4 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 2.5 ปี จะมีน้ำหนักหนึ่งในสามของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่เมื่ออายุ 6 ปี จะมีฟันแท้ซี่แรกขึ้นเมื่ออายุ 6-7 ปี)
และเราพบว่าในคนนั้น ต้องรอจนอายุ 6-7 ปี ระบบหลายอย่างของร่างกายจึงจะพัฒนาได้เต็มที่ จึงเป็นเหตุผลว่าเด็กควรได้รับนมแม่ไปจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว
ประการแรก คือ เด็กจะมีระดับภูมิต้านทาน (อิมมูโนโกลบูลิน A,G,M) ซึ่งช่วยในการป้องกันโรคติดเชื้ออยู่ในระดับใกล้เคียงผู้ใหญ่เมื่อเด็กอายุ 6 ปี ส่วนระดับภูมิต้านทานในเด็กอายุก่อน 6 ปี พบว่ายังมีระดับต่ำอยู่ จึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย จึงต้องอาศัยสารสำคัญที่หลั่งจากเม็ดเลือดขาวที่มีอยู่ในนมแม่เป็นตัวช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน ทำให้เด็กที่กินนมแม่มีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อยเมื่อเจอกับเชื้อโรค
ประการที่สอง คือ จากการศึกษาพบว่าน้ำหนักสมองของเด็กจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งอายุ 6-7 ปีและการสร้างปลอกหุ้มเส้นใยประสาทจะสำเร็จสมบูรณ์ที่อายุ 7 ปี (ไม่ใช่แค่เพียงอายุ 2 ปีแรก) หากในช่วงเวลานี้สมองได้รับสารสำคัญคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว PUFA (ที่รู้จักกันดีคือ DHA และ ARA) จะทำให้เด็กมีสมองและจอประสาทตาที่ดีที่สุด ซึ่งสารดังกล่าวพบได้ในนมแม่ไม่ใช่นมวัว (ส่วนที่มีการเติม DHA, ARA ในนมผงนั้นเป็นสารสังเคราะห์จากห้องแล็บ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีประโยชน์จริง) ดังนั้นเด็กจึงควรกินนมแม่เพื่อให้ได้รับสารเหล่านี้เต็มที่
ประการที่สาม นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเด็กพบว่า กระบวนการทางความคิดของเด็กจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเด็กเล็กที่มีความคิดที่ไม่ซับซ้อน เป็นลักษณะที่มีคุณภาพมากขึ้นแบบเด็กโตเมื่ออายุ 7 ปี หากเด็กยังคงได้กินนมแม่ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่เด็กจำความได้แล้ว ลูกจะรู้ได้เองว่าเคยกินนมแม่ แม่แสดงความรักและความอบอุ่นจากอ้อมกอดของแม่ขณะที่ให้นมอย่างไร ลูกจะจำได้เองโดยที่เราไม่ต้องคอยบอก ไม่ต้องย้ำว่าเมื่อสมัยเล็กๆ ลูกเคยดูดนมแม่นะ ลูกจะรักคุณแม่มากขึ้น ช่วยสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างแม่ลูกและเป็นพื้นฐานความรักความอบอุ่นที่สำคัญของครอบครัว เมื่อไรที่ลูกมีวิกฤติด้านอารมณ์ เขาจะมีความมั่นคงทางอารมณ์สูง เป็นเด็กที่ปรับตัวง่าย สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตได้เป็นอย่างดี หากลูกเริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว อาจมีภาวะเครียดจากสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ต้องปรับตัว แต่เมื่อกลับบ้านได้เจอแม่ ได้ดูดนมแม่ ความเครียดจะหายไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ขณะดูดนม คุณแม่ก็ชวนลูกคุยไปด้วยว่า ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
ประการที่สี่ คือ การปรากฏของฟันแท้ซี่แรก เป็นสัญญานที่บอกว่า พร้อมแล้วสำหรับการพึ่งพาตัวเอง การหาอาหารเองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อันที่จริงคนสมัยก่อนเรียกชื่อฟันชุดแรกว่าฟันน้ำนม ก็เป็นการบอกเป็นนัยแล้วว่า ควรกินนมแม่จนกว่าฟันแท้จะมานั่นเอง จากเหตุผลดังกล่าวทั้ง 4 ประการ ทำให้สรุปได้ว่า ช่วงเวลา 6-7 ปีแรกของคน เป็นช่วงที่เด็กควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแม่ รวมถึงการได้รับนมแม่ เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสม
ในแง่ของสารอาหารในนมแม่นั้น จากงานวิจัยของ Dewey 2001 พบว่าหลังจากหนึ่งปีไปแล้ว ในน้ำนมแม่ปริมาณ 15 ออนซ์ ให้สารอาหารกับทารกในสัดส่วนดังนี้
29% ของ พลังงาน ที่ทารกต้องการต่อวัน
43% ของ โปรตีน ที่ทารกต้องการต่อวัน
36% ของ แคลเซียม ที่ทารกต้องการต่อวัน
75% ของ vitamin A ที่ทารกต้องการต่อวัน
76% ของ โฟเลต ที่ทารกต้องการต่อวัน
94% ของ vitamin B12 ที่ทารกต้องการต่อวัน
60% ของ vitamin C ที่ทารกต้องการต่อวัน
นมแม่มีประโยชน์ต่อเด็กทุกอายุแน่นอน ป้าหมอพบคนไข้หลายครอบครัวที่มีลูกคนโตเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย เป็นไซนัสอักเสบ ต้องหยุดเรียน กินยารักษาโรคจำนวนมาก เนื่องจากลูกคนโตไม่ได้กินนมแม่เลยหรือได้กินน้อยมาก จนกระทั่งแม่คลอดน้องแล้วได้รับคำแนะนำเรื่องนมแม่ และทราบว่าการกินนมวัวมีโทษเพราะสัมพันธ์กับการเกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้คุณแม่มีความตั้งใจอย่างมากในการผลิตน้ำนมเผื่อลูกคนโตด้วย โดยปั๊มนมให้ลูกคนโตกิน บางคนผลิตน้ำนมได้มากสำหรับเลี้ยงเด็กได้ถึง 3 คน หลังจากที่ลูกคนโตได้กลับกินนมแม่ และหยุดกินนมวัว พบว่าสุขภาพแข็งแรงขึ้นมาก อาการภูมิแพ้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งๆที่คนโตเป็นเด็กอายุเกิน 2 ปีแล้วก็ตาม
กล่าวโดยสรุปคือ การให้นมแม่นาน 2.5-7 ปี เป็นสิ่งปกติที่แม่ทำได้ หากแม่อยากทำ และมีประโยชน์แน่นอนทั้งทางด้าน คุณค่าทางโภชนาการ ภูมิต้านทานโรค และเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางอารมณ์ที่สำคัญ จนกว่าเด็กจะถึงวัยที่สามารถสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง
ป้าหมอหวังว่า ความรู้นี้จะช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ว่าควรให้ลูกกินมแม่นานเพียงใด
cr.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ