วิธีง่ายๆที่ใช้ดูว่าลูกได้นมพอหรือไม่ สำหรับเด็กทุกอายุ คือ ในแต่ละวัน ให้ดูว่าลูกอุจจาระเกินปริมาณ 2 เท่าของขนาดพื้นที่ของแกนกระดาษทิชชู่ (แกนกระดาษทิชชู่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 ซม.) หรือปัสสาวะเกิน 6 ครั้ง
หากเป็นเด็กแรกเกิด ให้ลูกกินบ่อยๆเท่าที่ลูกต้องการ อาจดูดทุก 2-3 ชม. หรือ ขอดูดตลอดเวลาไม่ยอมผละออกจากเต้าเลยก็ได้ เนื่องจากเป็นการปรับตัวกับโลกใบใหม่ในช่วงแรกๆ ทำให้เด็กบางคนต้องการอยู่กับแม่ตลอดเวลา ไม่ได้แปลว่านมแม่ไม่พอ ถ้าลูกมีอุจจาระปัสสาวะครบตามที่ต้องการ และน้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ วันละ 20 กรัม (หลังจากที่น้ำหนักลดลงไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแรกเกิด เช่น ถ้าแรกเกิดหนัก 3000 กรัม ช่วง 4-5 วันแรก นน.อาจลดลงไปเหลือ 2700 กรัม แต่ตอนอายุ 1 เดือน นน.3300 กรัม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ ไม่ได้ขึ้นน้อยเกินไป เพราะเท่ากับว่าขึ้น 600 กรัมใน 1 เดือน)
แต่ถ้าน้ำหนักขึ้นไม่ดี ตามเกณฑ์ ต้องหาสาเหตุว่าเป็นจากอะไร แล้วแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ท่าอุ้มดูดนมไม่ถูกวิธี เป็นพังผืดใต้ลิ้น เป็นโรคกรดไหลย้อน เป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัวที่ผ่านทางนมแม่ทำให้ลูกท้องเสีย น้ำหนักจึงขึ้นไม่ดี อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่า นมแม่ไม่เพียงพอ แล้วรีบร้อนเสริมนมผงเข้าไป ทางที่ดีควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น คลีนิคนมแม่ หรือ เว็บนมแม่ เฟคบุ๊คนมแม่ เป็นต้น
เด็ก 8 เดือน ควรกินข้าว 1 มื้อ ผลไม้ครูด 1 มื้อ และดูดนมแม่วันละ 5-6 ครั้ง ควรมีการฝึกลูกให้ยอมกินนมแม่เหม็นหืนจากขวดเพื่อให้เรียนรู้รสชาติของนมสต๊อก ตั้งแต่ลูกอายุ 1-2 เดือน หากเป็นแม่ที่อยู่กับลูกตลอดเวลา ควรมีการฝึกวันละ 1 ครั้ง เพื่อที่ว่า ณ.เวลาที่คุณแม่ไม่อยู่บ้านหรือไม่ได้ให้ลูกกินจากเต้าแล้ว ลูกยังสามารถกินนมแม่สต๊อกต่อไปได้ ช่วยชะลอเวลาที่ต้องไปกินนมอื่นเร็วเกินควร เวลาอื่นที่ไม่ได้ฝึกกินขวด ก็เป็นการดูดจากเต้าโดยตรง มื้อไหนที่ใช้นมสต๊อก คุณแม่ก็ไปปั๊มนมในเต้าออกให้หมด อย่าทิ้งนมในเต้า เพราะร่างกายจะลดการผลิตเมื่อไม่ได้ระบายนมออกจากเต้า
หากลูกเป็นเด็กที่กินครั้งละเต้าเดียว อาจเป็นเพราะลูกชอบกินครั้งละน้อย แต่กินบ่อยๆ เช่น ขอดูดทุกๆชม. แต่จะดูดแค่พอหายหิว ไม่ยอมดูดทั้งสองข้างจนอิ่มจริงๆ ข้อเสีย คือ ทำให้แม่และลูกขาดโอกาสในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น แม่ทำงานบ้านหรือทำธุระอื่นๆไม่ได้ ลูกขาดโอกาสไปทำพัฒนาการอื่นๆหรือเล่นปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แล้วคนอื่นจะโทษว่ากินนมแม่มาก ทำให้ติดแม่เป็นตังเม วิธีฝึก คือ ควรดึงเวลาให้ห่างเป็นทุก 3-4 ชม. เช่น หากลูกจะมาขอกินหลังจากดูดคราวที่แล้ว 1 ชม. ให้คุณแม่พูดว่า รอก่อนนะคะ ยังไม่ถึงเวลา แล้วชวนให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆทดแทน ลูกร้องไห้มากก็อย่าใจอ่อน พอครบ 3 ชม. ถึงจะให้กินได้ ถึงตอนนี้เขาจะหิวจริงๆ เพราะเว้นช่วงมานานหลายชม.แล้ว จะทำให้ดูดได้นานมากขึ้น และอาจกินได้ทั้งสองเต้า หรือการที่ลูกกินครั้งละเต้าเดียว อาจเป็นเพราะคุณแม่เป็นคนมีน้ำนมเยอะมาก จึงกินเพียงเต้าเดียวก็อิ่มแล้ว กรณีนี้คุณควรปั๊มอีกข้างออกมาเก็บสะสมทำสต๊อกเอาไว้ใช้ในอนาคต
ปริมาณนมแม่จากขวด คิดง่ายๆ คือ ชม.ละหนึ่งออนซ์ ทุกช่วงอายุ เช่น ถ้าแม่ไปทำงาน ไม่อยู่บ้านนาน 12 ชม. ลูกควรกินนมแม่สต๊อกจากขวดไม่เกิน 12 ออนซ์ กินน้อยกว่าได้ เพราะลูกจะเก็บท้องไว้รอกินนมแม่จากเต้าเวลาที่คุณแม่กลับมาบ้านแล้วนั่นเอง
cr.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ