เด็กๆ ชั้นประถมต้นสมัยก่อน พอกินข้าวกลางวันเสร็จ ก็มักรวมกลุ่มกันเล่น รอเวลาเข้าเรียนตอนบ่าย มีการเล่นอย่างหนึ่งเรียกว่า “ตะล๊อกต๊อกแต๊ก” คนเล่นจะมีมากเท่าใดก็ได้
แต่ต้องไปยืนรวมกลุ่มกันบนพื้นดินที่ขีดเป็นรูปคล้ายขวด มีตัว “ผี” ทำทีมายืนรอตรงปากขวด แล้วเริ่มเคาะประตู (ทำเสียงเคาะ) “ตะล๊อกต๊อกแต๊ก” (คนในขวดถาม) “มาทำไม” (ผีตอบ) “มาซื้อดอกไม้” (คนในขวดถาม) “ดอกอะไร” (ผีตอบ) “ดอก ฯลฯ” ตอนนี้ก็จะโต้ตอบกันไปเรื่อยๆ โดยฝ่ายคนจะตอบว่าไม่มีดอกที่ถาม แต่ถ้าเกิดมีขึ้นมา (ตรงนี้ไม่แน่ชัดว่ากำหนดกันอย่างไร) ฝ่ายคนก็จะต้องไปเปิดประตู เมื่อต่างฝ่ายพบกันแล้ว ฝ่ายคนจะเริ่มตั้งข้อสงสัยทำนองว่า “ทำไมเล็บยาว, ทำไมแต่งชุดขาว, ทำไมผมยาว, ทำไมมีเขี้ยว” เป็นต้น ซึ่งผีจะตอบได้ทั้งสิ้น แต่ครั้นคำถามสุดท้ายถามว่า “ทำไมตาโบ๋” ผีจะตอบไม่ได้ และจะแสดงตัวทันทีโดยพูดด้วยน้ำเสียงเย็นๆ ว่า “เพราะฉัน..เ..ป็…น……ผี !”
ตอนนี้ฝ่ายคนจะแตกฮือออกจากพื้นที่รูปขวด โดยมีผีวิ่งไล่กวดไปติดๆ แต่ละคนต้องพยายามกลับเข้าทางรูปากขวดให้ได้ เมื่อกลับเข้าได้ครบก็เป็นอันจบรอบการเล่น แต่หากผีคว้าจับใครได้ คนนั้นก็จะต้องมาเล่นเป็นผีแทนในรอบหน้า โดยมาก ผีจะหมายตาไว้อยู่แล้วว่าจะจับคนที่วิ่งช้ากว่าเพื่อน ซึ่งคนคนนั้นก็ยังพอมีทางรอดได้ (แต่เอาเปรียบเพื่อนๆ หน่อย) คือเมื่อจวนตัว ก็ให้วิ่งชนเข้าไปที่ขวด (คือไม่เข้าทางรูปากขวด) ให้ขวดแตก เพื่อนๆ ที่เข้าไปรออยู่ในนั้นก็ต้องออกมาวิ่งหนีผีกันใหม่ และต้องพยายามเข้าไปทางรูปากขวดอีกครั้ง เรียกว่าใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจให้ผีไปเลือกจับคนอื่นๆ บ้างนั่นเอง
ตะล๊อกต๊อกแต๊กนี้ เล่นได้ทั้งเด็กชายเด็กหญิง และยังพบว่ามีเล่นกันตามโรงเรียนประถมในต่างจังหวัดอยู่
(ชวิน ถวัลย์ภิยโย, ลูกหลานชาวพัทลุง, เมษายน ๒๕๔๘)
ตะลอกต๊อกแต๊ก มาทำไม
มาซื้อดอกไม้
ดอกอะไร
ดอกจำปี ไม่มี
ดอกจำปา ไม่มา